จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีลักษณะต่างจากจังหวัดอื่นอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่พื้นที่ของจังหวัดทั้งหมดเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย
จังหวัดที่ใกล้เคียงทางทิศเหนือ คือ จังหวัดพังงา ทางทิศตะวันออก คือ จังหวัดพังงาและจังหวัดกระบี่ ทั้งเกาะล้อมรอบด้วยมหาสมุทรอินเดีย และยังมีเกาะที่อยู่ในอาณาเขตของจังหวัดภูเก็ตทางทิศใต้และตะวันออก การเดินทางเข้าสู่ภูเก็ตนอกจากทางเรือแล้ว สามารถเดินทางโดยรถยนต์ซึ่งมีเพียงเส้นทางเดียวผ่านทางจังหวัดพังงา โดยข้ามสะพานสารสินและสะพานคู่ขนาน คือ สะพานท้าวเทพกระษัตรีและสะพานท้าวศรีสุนทร เพื่อเข้าสู่ตัวจังหวัด และทางอากาศโดยมีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตรองรับ ท่าอากาศยานนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ
คำว่า ภูเก็ต คาดว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า บูกิต[3](ในภาษามลายูแปลว่าภูเขา) หรือที่เคยรู้จักแต่โบราณในนาม เมืองถลาง
เดิมคำว่า ภูเก็ต นั้นใช้คำว่า ภูเก็จ อันแปลว่า เมืองแก้ว จึงใช้ตราเป็นรูปภูเขา(ภู)มีประกายแก้ว(เก็จ)เปล่งออกเป็นรัศมี (ดูตราที่ผ้าผูกคอลูกเสือ) ตรงกับความหมายเดิมซึ่งชาวทมิฬเรียกมณิครัม ตามหลักฐาน พ.ศ. 1568 ภูเก็ตเป็นที่รู้จักของนักเดินเรือที่ใช้เส้นทางระหว่างจีนกับอินเดีย โดยผ่านแหลมมลายู หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ หนังสือภูมิศาสตร์และแผนที่เดินเรือของคลอดิอุส ปโตเลมี เมื่อประมาณ พ.ศ. 700 กล่าวถึงการเดินทางจากแหลมสุวรรณภูมิลงมาจนถึงแหลมมลายู ซึ่งต้องผ่านแหลม จังซีลอน หรือเกาะภูเก็ต(เกาะถลาง)นั่นเอง[ต้องการอ้างอิง]
จากประวัติศาสตร์ไทย ภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตามพรลิงก์ อาณาจักรศรีวิชัย สืบต่อมาจนถึงสมัยอาณาจักรศิริธรรมนคร เรียกเกาะภูเก็ตว่า เมืองตะกั่วถลาง เป็นเมืองที่ 11 ใน 12 เมืองนักษัตร โดยใช้ตราเป็นรูปสุนัข จนถึงสมัยสุโขทัย เมืองถลางไปขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า ในสมัยอยุธยา ชาวฮอลันดา ชาวโปรตุเกส และชาวฝรั่งเศส ได้สร้างสถานที่เก็บสินค้าเพื่อรับซื้อแร่ดีบุกจากเมือง(ถลาง)ภูเก็ต
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เกิดสงครามเก้าทัพขึ้น พระเจ้าปดุง กษัตริย์ของประเทศพม่าในสมัยนั้น ได้ให้แม่ทัพยกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ เช่น ไชยา นครศรีธรรมราช และให้ยี่หวุ่นนำกำลังทัพเรือพล 3,000 คนเข้าตีเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง และเมืองถลาง ซึ่งขณะนั้นเจ้าเมืองถลาง (พญาพิมลอัยาขัน) เพิ่งถึงแก่อนิจกรรม ท่านผู้หญิงจัน ภรรยา และคุณมุก น้องสาว จึงรวบรวมกำลังต่อสู้กับพม่าจนชนะเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2328พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงจันเป็น ท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รวบรวมหัวเมืองชายทะเลตะวันตกตั้งเป็น มณฑลภูเก็ต และเมื่อปี พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาล เปลี่ยนมาเป็น จังหวัดภูเก็ต จนถึงปัจจุบัน
ประชากร
ชาวเลเป็นชาวกลุ่มแรก ๆ ที่มาอาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ต จากนั้นมาจึงกลุ่มชนอื่น ๆ อพยพตามมาอีกจำนวนมาก ทั้งชาวจีน ชาวไทย ชาวมาเลเซีย ฯลฯ จนมีวัฒนธรรมเฉพาะเป็นของตนเองสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นสีสันอย่างหนึ่งของภูเก็ต ตามบันทึกของฟรานซิส ไลต์ กล่าวถึงชาวภูเก็ตว่าเป็นพวกผสมผสานกันทางด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรมกับชาวมลายู โดยเฉพาะคนไทยจำนวนมากในสมัยนั้นทำตัวเป็นพุทธศาสนิกชน สักการะพระพุทธรูป ขณะที่กัปตันทอมัส ฟอร์เรสต์ ชาวอังกฤษที่เดินเรือมายังภูเก็ต ใน พ.ศ. 2327 ได้รายงานว่า "ชาวเกาะแจนซีลอนพูดภาษาไทย ถึงแม้ว่าเขาจะเข้าใจภาษามลายู พวกเขามีลักษณะหน้าตาคล้ายกับชาวมลายู ท่าทางคล้ายชาวจีนมาก"
ปัจจุบันชาวภูเก็ตส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวจีนช่องแคบ ชาวจีนกวางตุ้ง ฯลฯ รวมไปถึงชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม แถบอำเภอถลาง โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมมีจำนวนถึงร้อยละ 20-36 ของประชากรในภูเก็ต มีมัสยิดแถบอำเภอถลางราว 30 แห่งจาก 42 แห่งทั่วจังหวัด มีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กลุ่มอูรักลาโว้ยและพวกมอแกน (มาซิง) ซึ่งมอแกนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ มอเกนปูเลา (Moken Pulau) และ มอเกนตาหมับ (Moken Tamub) และยังมีชนกลุ่มต่างชาติอย่างชาวยุโรปที่เข้าลงทุนในภูเก็ต รวมไปถึงชาวอินเดีย มีชาวคริสต์ในภูเก็ตราว 300 คนชาวสิกข์ที่มีอยู่ราว 200 คน และชาวฮินดูราว 100 คน และแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ลาว และเขมรราวหมื่นคน
ประชากรส่วนใหญ่ในภูเก็ตนับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 73, ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 25, ศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ร้อยละ 2[4]
สถานที่สำคัญ
- ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตเป็นศาลากลางที่ไม่เหมือนใครด้วยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นทั้งยังเป็นโบราณสถานที่ยังใช้การอยู่จนกระทั่งปัจจุบันอีกด้วย
- วัดฉลอง (ปัจจุบันชื่อ วัดไชยธาราราม) พ.ศ. 2419 ศิษย์พ่อท่านแช่มต่อสู้กับอั้งยี่
- วัดพระนางสร้าง มีลายแทง "พิกุลสองสารภีดีสมอแดงจำปาจำปีตะแคง..." พระพุทธรูปดีบุกที่เก่าแก่ที่สุด ตำนานพระนางเลือดขาว
- อนุสาวรีย์ ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2509
- เกาะสิเหร่ มีชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ย รองเง็งคณะแม่จิ้ว ประโมงกิจเป็นแม่เพลงอันดามัน
- ศาลเจ้ากะทู้เป็นที่แรกเริ่มเทศกาลกินผัก (เจี๊ยะฉ่าย)
- ศาลเจ้าบางเหนียว ศาลเจ้าใกล้บริเวณท่าเรือที่ชาวต่างชาติรับส่งสินค้ามีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี
- ศาลเจ้าแสงธรรมหรืออ๊ามเตงก่องต๋อง ศาลเจ้าเก่าแก่แห่งหนึ่งของภูเก็ตมีสถาปัตยกรรมที่งดงามมาก เป็นศาลเจ้าประจำตระกูลตัน
- ศาลเจ้าบ้านท่าเรือหรือ ฮกเล่งเก้ง เป็นที่ประดิษฐานองค์พระโป๊เซ้งไต่เต่ องค์พระประธานของศาลเจ้า
- ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย หรือ จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง หรือ คนภูเก็ตเรียกว่า อ๊ามจุ๊ยตุ๋ย
- วัดพระทอง มีพระผุดมาจากดิน มีลายแทงยัก 3 ยัก 4 หามผีไปเผา ผีไม่ทันเน่าหอมฟุ้งตลบ
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง มีเทวประธานคือพระวิษณุ จดหมายเหตุท้าวเทพกระษัตรี หง่อก่ากี่ ชาวเล
- พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต(พมร.ภูเก็ต)เดิมใช้ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่กะทู้ ใน อังมอเหลามีเหมืองจำลองเหมืองแล่น เหมืองรู เหมืองหาบ เหมืองฉีด เหมือง เรือขุด; โลหะดีบุก เพชรภูเก็จ เพชรพังงา แทนทาลัม วิถีชีวิตชาวกะทู้; ภายนอกมีรางเหมืองแร่(เหมืองสูบ-ฉีด) ขนาดใหญ่ไว้สาธิตการได้แร่ดีบุกของนายหัวเหมือง
- สนามบินนานาชาติภูเก็ตอยู่ติดชายทะเลระหว่างหาดในยางและหาดไม้ขาว
- อนุสรณ์สถานเมืองถลาง(PHUKET HISTORICAL PARK)อยู่ในสมรภูมิเมืองถลาง พ.ศ. ๒๓๒๘ ตำบลเทพกระษัตรี อ.ถลาง พื้นที่ ๙๖ ไร่ ก่อนการพัฒนาเป็นทุ่งนาหลวง มีคลองเสน่ห์โพไหลผ่านไปบรรจบกับคลองบางใหญ่ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาพระแทวไปออกทะเลที่อู่ตะเภา ทะเลพัง เคยเป็นที่จอดเรือรบของยี่หวุ่น แม่ทัพเรือพม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘
- ฮ่ายเหลงอ๋องพญามังกร ณ ลานเฉลิมพระเกียรติฯ 72 พรรษา อยู่ในตัวเมืองภูเก็ต
สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
- อุทยานแห่งชาติสิรินาถ
- เขารัง เป็นภูเขาเตี้ย ๆ ในอำเภอเมืองภูเก็ต
- สะพานหิน ทะเลของชาวเมืองภูเก็ต อยู่บริเวณตัวเมืองซึ่งในอดีตเคยเป็นสถานที่การทำเหมืองแร่ดีบุกในทะเล
- แหลมพรหมเทพ
- จุดชมวิวเขาขาด
- แหลมพันวา
- อ่าวมะขาม
- อ่าวกะหลิม
- เกาะไม้ท่อน
- เกาะรัง
- เกาะราชา
- เกาะเฮ
- แหลมสิงห์
- หาดกมลา
- หาดสุรินทร์
- หาดป่าตอง
- หาดกะรน
- หาดกะตะ
- หาดราไวย์
- หาดในหาน
- หาดไตรตรัง
- หาดในยาง
- หาดไม้ขาว นี่แหละบ้านเกิดครับ
- หาดในทอน
- หาดบางเทา
สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
- พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี ตั้งอยู่บนยอดเขานาคเกิด พระพุทธรูปใหญ่ที่สุดในจังหวัดภูเก็ต
- สถาปัตยกรรมแบบจีน-โปรตุเกส (Sino-Portuguese Architecture) บริเวณถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนพังงา ถนนเยาวราช และถนนกระบี่ในอำเภอเมืองภูเก็ต
- ภูเก็ตแฟนตาซี ตั้งอยู่บริเวณหาด กมลา
- ประภาคารกาญจนาภิเษก
- พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทหัว
- พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่กะทู้
- พิพิธภัณฑ์เปลือกหอย
- สวนสัตว์ภูเก็ต
- บ้านชินประชา
- ร้านหมี่ผัดฮกเกี้ยน
เทศกาลสำคัญ
- เทศกาลถือศีลกินผัก
- เทศกาลพ้อต่อ
- วันไหว้เทวดา
- ตรุษจีน
- เทศกาลเฉ่งเบ๋ง
- ประเพณีลอยเรือชาวเล
- ประเพณีไหว้พระจันทร์
- ประเพณีปล่อยเต่า ในหมู่บ้านเกิดครับ
อาหารและขนมพื้นเมือง
- โลบะ (จีน:滷肉) - เป็นเครื่องในหมูปรุงกับเครื่องพะโล้ นำมาทอดรับประทานกับเต้าหู้ทอดราดน้ำจิ้ม
- หมี่ฮกเกี้ยน (จีน:福建麵) - หมี่เหลืองผัดสูตรฮกเกี้ยนซึ่งเป็นสูตรดั้งเดิมพื้นเมืองโดยเฉพาะ จะมีเนื้อกุ้ง ปลา หอย หมู ปลาหมึก โรยหน้าด้วยเจี้ยนผ้างหรือหอมเจียว รับประทานคู่กับหอมแดงหรือแคบหมู
- หมี่หุ้นปาฉ่าง - เป็นเส้นหมี่แห้งรับประทานกับน้ำต้มกระดูกหมู
- หมี่สั่ว (จีน:炒麵線)- เป็นอาหารเช้าของชาวภูเก็ต จะขายพร้อมกับข้าวต้มหรือโจ๊ก มีลักษณะเป็นเส้นคล้ายเส้นหมี่ แต่แตกต่างทั้งในแง่รสชาติและความ
เหนียวนุ่ม
- เบือทอด - เป็นกุ้งกับหญ้าช้องหรือใบเล็บครุฑชุบแป้งทอด รับประทานกับน้ำจิ้มสูตรพิเศษ
- โอต้าว (จีน:蚝煎)- ลักษณะคล้ายกับหอยทอดภาคกลาง ใช้หอยติบผัดกับแป้ง เผือก และไข่ รับประทานกับกากหมูทอดและถั่วงอก ปัจจุบันนิยมใช้หอยนางรมแทนหอยติบ เพราะหาได้ง่ายกว่า ชาวภูเก็จเรียก โก่ต้าว ก็มี เป็นอาหารว่างตอนบ่าย หรือ ตอนดึก เครื่งปรุง มี หอยติบ(หอยนางรมเล็ก) หัวเผือก กากหมูทอด แป้งมัน แป้งสาลี ไข่ไก่ ต้นหอมซอย พริกแห้งใหญ่ กระเทียม น้ำสมสายชู น้ำมัน เกลือ น้ำตาล ซีอิ้วขาว พริกไทยป่น การปรุงต้องละลายแป้งกับน้ำ น้ำตาล และโรยต้นหอมซอย ส่วนการทอดจะใช้กะทะแบนใส่น้ำมันพอสมควร พอน้ำมันร้อนตักแป้งใส่ โรยเผือก หอยติบ ไข่ไก่ ปรุงรสด้วยซีอิ้วขาว น้ำส้ม พริกไทยป่น และใส่พริกกับกระเทียมที่ตำไว้ด้วย หากต้องการให้เผ็ด จากนั้นใช้ตะหลิวสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วกลับ ผัด ให้เข้ากัน โรยหน้าด้วยกากหมู รับประทานกับถั่วงอก
- โอ๊ะเอ๋ว - (จีน:薁蕘)เป็นของหวานคล้ายวุ้นน้ำเชื่อมใส่น้ำแข็ง โดยวุ้นดังกล่าวทำมาจากกล้วยน้ำว้าผสมกับวุ้นของเมล็ดโอ้เอ๋ว
- สับปะรดภูเก็ต - สับปะรดพันธุ์พื้นเมืองที่มีรสชาติหวานกรอบ อร่อย ต่างกับสับปะรดที่อื่น ซื้อได้ที่ตลาดสดทั่วไป
- น้ำชุบภูเก็ต - เป็นน้ำพริกกะปิน้ำใส ๆ ใส่กุ้งสด หัวหอม พริก และมะนาว รับประทานกับข้าวหรือขนมจีน
- บ๊ะจ่าง (จีน:肉粽) - เป็นขนมที่นิยมของชาวภูเก็ต ทำจากข้าวเหนียวผัดซีอิ้ว มีไส้หมูอยู่ข้างใน
- แกงไตปลา - เป็นแกงยอดนิยมของชาวภูเก็ต ทำจาก ไส้ปลาหรือเครื่องในปลา มาหมักไว้และทำเป็นเครื่องแกง รับประทานกับข้าว หรือขนมจีน ชาวภูเก็จเรียกว่าแกงพุงปลา
- ขนมจีน - นิยมทานเป็นอาหารเช้าและเย็น ทานกับน้ำแกงหลายรสชาติซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นเมือง ทั้งแกงไตปลา น้ำชุบหยำ น้ำยา น้ำพริก ส่วนใหญ่เป็นเส้นหมัก มีเส้นสดอยู่บ้าง
- ขนมจีบติ่มซำ (จีน:點心) - เป็นอาหารเช้าของชาวภูเก็ต มักไม่รับประทานในมื้ออื่น มีอยู่ทั่วไปบนเกาะภูเก็ต สามารถหารับประทานได้ไม่ยาก มีหลากหลายแบบให้เลือกรับประทานทาน น้ำจิ้มแต่ละร้านจะต่างกันไปตามเคล็ดลับ ชาวภูเก็ตนิยมเรียกว่า เสี่ยวโบ๋ย
- เกลือเคย - คล้ายกับน้ำปลาหวาน ปรุงจากพริกขี้หนู กุ้งแห้ง ตำละเอียด กะปิ ซีอิ้ว น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายขาว และน้ำ เวลารับประทาน ใช้ราดบนเลือดหมูต้ม เต้าหู้เหลือง แตงกวา และผลไม้อื่น ๆ
- ผัดไทยภูเก็ต ผัดไทยจะมีเส้นใหญ่และเส้นเล็ก เครื่องปรุงจะมีแค่ไข่ไก่ ถั่วงอก กุ๋ยช่าย ผัดให้เข้ากันใส่ พริกแห้งเม็ดใหญ่บดจนละเอียดมีน้ำผสมเล็กน้อย และกระเที่ยมโคลกละเอียด ผัดรวมกันปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลนิดหน่อย บ้างร้านก็จะใส่กากหมูภูเก็ตลงไปผัดพร้อมกัน กินแกล้มกับ ถ้วงอกสด กุ๋ยช่ายสด ปลีกล้วย มะนาว
- หมูผัดต่าวหยู้
- ฮ้องบะ (จีน:封肉) มีลักษณะคล้ายกับหมูพะโล้ แต่น้ำของหมูฮ้องจะมีลักษณะข้น การปรุงหมูฮ้องให้อร่อยจะต้องมีเครื่องเทศ โดยเฉพาะโปยกั้ก ผงพะโล้ และมีหมูเนื้อแดงติดมัน กระเทียม พริกไทย นำไปผัดให้หอม ใส่ซีอิ้วดำ ซีอิ้วขาว ใส่น้ำตั้งเคี่ยวให้หมูสุกเปื่อย บางครั้งอาจจะใส่ไข่ต้ม หรือไข่นกกระทะ น้ำของหมูฮ้องจะต้อง มีรสชาติจัด
- แกงตู้มี้ เป็นอาหารจำพวกแกงเผ็ด และมีการนำเอาเครื่องเทศ ลูกผักชี หยี่หร่า พริกไทย ซาลาเป้า เข้ามาเป็นส่วนประกอบ และเครื่องเทศจะต้องมีการคั่วให้มีกลิ่นหอม ส่วนหอมกระเทียมก็นำมาเผา ซึ่งลักษณะการทำคล้ายกับแกงมัสหมั่นแต่การนำน้ำพริกไปผัดกะทิ จะต้องเคี่ยวให้แตกมัน จนเกือบจะเป็นขี้โล้ แล้วจึงจะใส่น้ำเปล่าลงไป เมื่อน้ำแกงเดือด จึงจะใส่ปลาลงไป โดยเฉพาะปลานั้นจะต้องเป็นปลาตัวใหญ่ และมีความสด เช่น ปลากระพงแดง - ขาว ปลามง ฯลฯ จึงปรุงรสด้วย น้ำมะขามเปียก น้ำปลา น้ำตาลปี้บ ส่วนผักที่ใช้ใส่มีถั่วลา หรือแตงกวาก็ใช้ได้
- ปลาชิงช้าง(ปลากะตัก)เป็นปลาที่อาศัยอยู่บริเวณทะเลระดับน้ำความลึกประมาณ ๒๐-๓๐ เมตร และตามแนวชายฝั่ง จะอาศัยอยู่กันเป็นฝูงหรือกลุ่ม มีขนาดเล็ก - กลาง - ใหญ่ มีรูปร่างกลม และแบนสีขาว หรือสีขาวแถบข้างลำตัวสีเทา จะมีมากในช่วงมรสุมตะวันออก ระหว่างเดือน ตุลาคม- เมษายน สำหรับเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน ช่วงฤดูวางไข่ การทำปลาชิงช้าง โดยการล้างปลาด้วยน้ำทะเล แล้วนำไปต้มให้สุกในน้ำเกลือเมื่อเย็นนำไปตากแดดจนแห้งสนิท นำไปทอด ใกล้จะเย็นโรยด้วยน้ำตาลทรายเล็กน้อย
- ปอเปี้ยะสด (โปะเปี้ย) สำหรับปอเปี้ยสดของภูเก็ตจะแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ คือ ไส้จะใช้มันแกวนำไปผัดกับหมู ซีอิ้วดำ-ขาว น้ำตาล ผัดให้น้ำขลุกขลิก วิธีห่อแป้งวางแผ่นแป้งบนเขียง ปูด้วยผักกาดหอม ถั่วงอกวางบนตักมันแกวที่ผัดแล้ว แต่งหน้าด้วยหมูแดง หมูต้ม กุ้ง ปู เต้าหู้เหลือง กากหมูเคล้าหอมเจียว ทาด้วยพริกน้ำส้ม ตีเจียว ห่อนับหัวน้ำ ๒ แล้วม้วนให้กลม
- ผักหลักไก่ (ผักลิ้นห่าน) เป็นพืชที่ขึ้นบริเวณชายหาดริมทะเล มีมากในหน้าฝน และหน้าหนาว ใช้ส่วนใบมารับประทาน อาจรับประทานสดกับน้ำพริกต่าง ๆ หรือนำมาแกงเลียงทั้งชนิดที่ใส่กะทิ และไม่ใส่กะทิ แกงพอสุกจะอร่อย
- ผัดกาเป๊ก (จีน:炒茭白) เป็นกับข้าวที่ใช้รับประทานกับข้าวสวย กาเป็ก หรือเรียกอีกอย่างว่า หน่อไม้น้ำ การผัดกาเป็กให้มีรสชาติดีขึ้นอยู่กับกาเป็กมีความสด และต้นอ่อนไม่แก่จนเกินไป ส่วนประกอบในการผัดกาเป็ก จะมี เนื้อหมู, กุ้ง, เต้าหู้เหลือง ซีอิ้วขาว หอม กระเทียม และจะมีแป้งมันนิดหน่อย เพื่อให้น้ำของผักมีลักษณะข้นเล็กน้อย
- รังนก รังนกนางแอ่นที่คนนำมารับประทาน คือ นกนางแอ่นชนิด สวอลโลว์ Swallo อยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย และตอนใต้ของจีน ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย รังนกที่ดีจะต้องมีสีขาวไม่มีสีเจือปน ราคาจะสูงมาก เนื่องจากการเก็บที่เสี่ยงอันตรายและมีจำนวนจำกัด ส่วนใหญ่จะอยู่ตามหน้าผา และถ้ำ จะเก็บรังนกในเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม นกนางแอ่นจะสร้างรังในตอนกลางคืน เป็นรูปตัวยู เมื่อน้ำลายที่ทำรังแห้ง และแข็งตัวจะมีลักษณะคล้ายเยลาติน ชาวจีนถือว่ารังนกเป็นอาหารเสริมที่ใครได้รับประทานแล้วจะทำให้ร่างกายแข็งแรง หรือเป็นยาบำรุงกำลัง จัดเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูง เช่นเดียวกับโสม ปลิงทะเล เขากวางอ่อน หูฉลาม รังนกเป็นอาหารที่มีโปรตีนที่ไม่สมบูรณ์ ๖๐.๙๐% น้ำ ๕.๑๑% ฟอสฟอรัส ๐.๗๓% แคลเซี่ยม ๐.๘๕% และโปรตัสเซี่ยม ๐.๐๓% นิยมรังนกมาประกอบเป็นของหวานโดยนำมาตุ๋นกับน้ำตาลกรวด
- ขนมอังกู๊ ส่วนมากมีสีแดงและนิยมใช้ในวันผ่อต้อเพื่อส่งให้บรรพบุรุษเป็นพาหนะกลับสวรรค์
- ขนมสี่ขา
- เต้าซ้อ (จีน:豆沙)
- ขนมอาโปง
- ขนมฮวดโก้ย (จีน:發粿)
- ขนมบันเฉียนโก้ย
- ขนมเจียะโก้ย (จีน:炸粿) ชาวภูเก็จเรียก อิ๋วจาโก้ย ชาวต่างจังหวัดเรียก ปาท่องโก๋
- ขนมปาวล้าง ขนมที่ใช้วิธีการปิ้ง หรือ ย่างให้สุกหอม ส่วนผสมจะประกอบด้วยข้าวเหนียวซาวแช่น้ำ ๑ คืน ล้างให้สะอาดนึ่งให้สุก แล้วนำกะทิ น้ำตาลทราย เกลือ คนให้ละลาย ปนกันกับข้าวเหนียวที่นึ่งขณะที่ยังร้อนอยู่ ส่วนของไส้ขนมใช้กุ้งแห้งป่นผัดในน้ำมันร้อน ใส่มะพร้าวผัดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วย น้ำตาล น้ำปลา และหางกะทิ ลักษณะเกือบแห้ง ห่อด้วยใบตอง ให้มีลักษณะกลมแล้วกลัดด้วยไม้กลัด นำไปปิ้งบนตะแกรงใช้เตาถ่านขนมจะมีกลิ่นหอม
- ขนมบี้ไทบัก (จีน:米篩目)
- ขนมเกี่ยมโก้ย (ขนมถ้วยเค็ม) ขนมที่ใช้รับประทานตอนเช้า เมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านมา ชาวถลางจะขายขนมเกี่ยมโก้ยหน้าโรงภาพยนตร์ ตั้งแต่ตอนเย็น ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้แป้งโม่ปัจจุบันใช้แป้งข้าวเจ้าแห้ง ละลายกับน้ำเย็น น้ำร้อน ใส่เกลือลงไปนิดหน่อยนำไปนึ่งให้สุก แป้งจะมีลักษณะขาวใส และมีรอยบุ๋มตรงกลางเล็กน้อย เมื่อเย็นดีแล้วจึงโรยด้วยหอมเจียว ต้นหอม กุ้งแห้งโขลกพอหยาบแล้วนำไปผัดกับน้ำมันให้หอม รับประทานกับน้ำจิ้ม
และอีกมากมายหลายหาดที่รอคุณมาท่องเที่ยวหาความสำราญครับ
ส่งท้ายภาพจากหาดสวยๆครับ
ท้ายที่สุด ต้องขอขอบคุณที่เข้ามาชื่นชมและให้กำลังใจครับ ตกหล่น,ผิดพลาด,ไม่สวยงามต้องขออภัยครับ งานชิ้นที่สองที่น่าจะเข้าท่าน่ะครับ ขอบคุณครับ