ความนิยม 2|
นางสีดา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางมาจาก สีดา)
นางสีดา จากการแสดง รามายณะ ที่ยอกจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
นางสีดาเป็นตัวละครเอกจากเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องของนางเริ่มต้นขึ้นเมื่อพระนารายณ์ได้อวตารลงเป็นเกิดเป็นพระราม พระลักษมีพระชายาแห่งพระนารายณ์จึงทรงอวตารลงไปเกิดเป็นคู่ครองของพระราม
ณ กรุงอโยธยาในครานั้น ท้าวทศรถผู้ครองนครมีอายุมากแล้ว ทั้งทีมีมเหสีถึงสามนางคือ
พระนางเกาสุริยา พระนางไกยเกษี และพระนางสมุทรเทวี
แต่พระองค์ก็หาได้มีพระโอรสธิดาไว้สืบราชวงศ์ไม่
ท้าวทศรถได้นำความนี้ปรึกษากับเหล่าฤๅษี ซึ่งพระฤๅษีกไลโกฏได้ทูลว่า
ควรจะทำพิธีบวงสรวงขอพระโอรสธิดาจากเทพเจ้า ด้วยวิธีการกวนข้าวทิพย์
ท้าวทศรถจึงจัดพิธีการกวนข้าวทิพย์อย่างยิ่งใหญ่ภายในกรุงอโยธยาเพื่อวอนขอสิ่งที่พระองค์ปรารถนา
พระอิศวรจึงมีพระบัญชาให้พระรามลงอวตารเป็นพระโอรสแห่งท้าวทศรถ ซึ่งพระยาอนันตนาคราชผู้เป็นพระแท่นบรรทมของพระนารายณ์ก็ขอติดตามไปด้วย เมื่อพิธีเสร็จสิ้น ท้าวทศรถจึงแบ่งก้อนข้าวทิพย์ให้แก่มเหสีทั้งสามของพระองค์ แต่เหลือข้าวก้อนสุดท้ายอยู่ ข้าวทิพย์เหล่านี้มีกลิ่นหอมหวลอย่างมากจนฟุ้งไกลไปถึงกรุงลงกา นางมณโฑ มเหสีของทศกัณฐ์ได้กลิ่นเข้าก็ร่ำร้องอยากกินให้ได้ มิฉะนั้นตนต้องขาดใจตายเป็นแน่ ทศกัณฐ์จึงมีบัญชาให้นางกากนาสูรสมุนของตนไปโฉบเอาก้อนข้าวทิพย์มาให้นางมณโฑ
เมื่อมเหสีแห่งท้าวทศรถรวมทั้งนางมณโฑได้กินข้าวทิพย์เข้าไปทำให้ต่างนางต่างตั้งครรภ์ ยังความดีใจให้กับท้าวทศรถและทศกัณฐ์อย่างมาก พระนางเกาสุริยาได้ประสูติพระโอรสองค์โตคือ พระราม (พระนารายณ์อวตาร)พระนางไกยเกษีประสูติพระโอรสองค์รองคือ พระพรต (จักรแห่งพระนารายณ์มาเกิด)พระนางสมุทรเทวีประสูติโอรสแฝดคือ พระลักษมณ์ (พระยาอนันตนาคราช)และพระสัตรุด (คฑาพระนารายณ์)สุดท้าย นางมณโฑก็ประสูติพระธิดาทรงโฉมงดงามยิ่ง คือพระลักษมีอวตาร นางสีดานั่นเอง
ทว่าชีวิตวัยทารกของนางสีดามิได้อยู่สุขสบายเป็นพระราชธิดาแห่งกรุงลงกา เพราะเมื่อนางประสูติออกมา นางก็ร้องว่า ผลาญราพณ์ถึง 3 ครั้ง พิเภกกราบทูลว่า นางสีดาจะนำภัยพิบัติใหญ่หลวงมาสู่วงศ์ยักษ์ ทศกัณฐ์จึงสั่งให้ใส่นางสีดาใส่ผอบลอยน้ำไปเพราะยังไม่อาจหักใจประหารธิดานอกไส้ของตนนางนี้ได้
ผอบทองลอยน้ำไปถึงอาศรมของฤๅษีชนกผู้ครองกรุงมิถิลา เปิดดูพบเด็กทารกหญิงหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูภายใน ทว่าฤๅษีชนกนั้นในขณะนั้นครองเพศฤๅษีอยู่ ไม่สะดวกจะเลี้ยงนางสีดา จึงได้นำผอบทองฝังดิน พร้อมขอให้พระแม่ธรณีช่วยดูแลรักษานางด้วย
16 ปีต่อมา ฤๅษีชนกตั้งใจนิวัตินครเพื่อครองกรุงมิถิลาตามเดิม จึงได้ทำพิธีไถคราดดินหาผอบทองที่พระองค์ฝังดินไว้ คันไถไปติดผอบเข้า เหล่าทหารจึงได้ขุดขึ้นมา เมื่อเปิดออกก็พบหญิงสาวรูปร่างหน้าตาสะสวยสะคราญโฉมอย่างที่หาที่เปรียบเปรยไม่ได้ สวยงามที่สุดและงดงามยิ่งกว่านางใดในโลกนี้ ทั้งจริตกิริยาก็เรียบร้อยน่าชม ฤๅษีชนกจึงได้รับนางเป็นพระธิดาแห่งกรุงมิถิลา พร้อมประทานนามให้นางว่า สีดา ที่แปลว่า "รอยไถ"
เมื่อนางสีดาเจริญถึงวัยอันควรแล้ว ท้าวชนกพระบิดาคิดจะจัดพิธีสยุมพรให้นางสีดาพระธิดา จึงได้ป่าวประกาศหาผู้ที่จะสามารถยกธนูโมลีหนักพันแรงคนยกได้ ถ้าผู้ใดทำได้จะยกนางสีดาให้อภิเษก ในครานั้นมีเจ้าชายหนุ่มสองพระองค์นามว่าพระราม และ พระลักษมณ์ อยู่ร่วมด้วย พระรามจึงมีพระดำริจะลองยกธนูโมลีนั้นดู แต่ทันใดนั้นเอง พระรามได้จ้องมองผ่านม่านพบกับนางสีดาที่นั่งอยู่อีกฝั่ง ด้วยบุพเพสันนิวาสทำให้ทั้งสองมีใจรักภักดีต่อกันทันที ธนูโมลีนั้นมีเพียงพระรามและพระลักษมณ์ที่ยกได้ แต่พระลักษมณ์ทราบดีว่าพระรามและนางสีดามีใจต่อกันจึงแสร้งทำเป็นยกธนูไม่ขึ้น ในที่สุด พระรามและนางสีดาก็ได้อภิเษกกันอย่างถูกต้องตามประเพณี
เมื่อนิวัติกลับอโยธยา พระรามก็ต้องพบกับข่าวร้าย ด้วยเล่ห์เหลี่ยมนางกุจจีข้ารับใช้ของพระนางไกยเกษีซึ่งเกลียดชังพระรามมาแต่เด็ก นางกุจจีหลอกล่อให้นางไกยเกษีขอท้าวทศรถให้พระพรตโอรสของนางขึ้นครองบัลลังก์ก่อน ซึ่งท้าวทศรถเสียใจมาก แต่พระองค์เคยได้รับการช่วยเหลือจากนางไกยเกษี พระองค์จึงจำยอมทำตาม พร้อมขับไล่พระรามออกเดินป่าเป็นฤๅษีถึง 14 ปี พระราม นางสีดา และพระลักษมณ์ที่ขอติดตามไปด้วยจึงออกไปผจญความทุกข์ยากในป่า ทำให้สุดท้ายท้าวทศรถก็ตรอมใจตาย
พระราม และนางสีดาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขแม้ไม่มีทรัพย์สมบัติมากมาย จนกระทั่งวันหนึ่ง นางสำมนักขายักขิณีม่ายน้องสาวทศกัณฐ์มาเห็นรูปโฉมพระรามก็หลงรัก เกี้ยวพาขอพระองค์เป็นสวามี แต่พระรามปฏิเสธเพราะมีนางสีดาอยู่แล้ว นางสำมนักขาโกรธจึงด่าทอทุบตีนางสีดา พระลักษมณ์โมโหจับนางสำมนักขาตัดหูตัดจมูกแล้วปล่อยไป นางสำมนักขาแค้นเคืองไปฟ้องพี่ชายของตน พร้อมกับพรรณาความงดงามของนางสีดาให้ทศกัณฐ์ฟังจนทศกัณฐ์อยากได้ในตัวของนางสีดา
ทศกัณฐ์สั่งให้มารีศแปลงเป็นกวางทองไปล่อหลอกพระรามพระลักษมณ์ออกจากอาศรมแล้วตนเองก็ไปลักพาตัวนางสีดามาอยู่ที่สวนขวัญ กรุงลงกา นางสีดามีรักมั่นคงต่อพระรามจึงไม่ยอมเป็นชายาของทศกัณฐ์ ทำให้เกิดสงครามระหว่างมนุษย์และยักษ์ปะทุขึ้น
เสร็จสิ้นสงคราม ทศกัณฐ์ตายแล้ว พระรามอยากเชิญนางสีดากลับอโยธยาด้วยกันแต่พระองค์ไม่อยากให้ผู้ใดมานินทาว่าร้ายนางสีดาที่ไปอยู่แดนศัตรูถึง 14 ปี นางสีดาจึงขอพิสูจน์ตนเองว่า จะขอลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ถ้าตนคิดนอกใจสามีเพียงนิดเดียว ขอให้ไฟไหม้นางจนตาย แต่ถ้านางมีรักมั่นต่อสามี ไฟจะไม่อาจทำอันตรายนางได้
ไฟกาฬเหล่านั้นพ่ายแพ้ต่อแรงอธิษฐานของนางสีดา นางสีดาพิสูจน์ตนเองได้ว่าบริสุทธิ์ทั้งกายใจ สามีภรรยาจึงได้กลับไปใช่ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข จนกระทั่งนางสีดามีครรภ์ นางอดุลยักษีที่เคียดแค้นนางสีดาแปลงมาเป็นนางกำนัลพร้อมขอให้นางสีดาวาดรูปทศกัณฐ์ พอวาดเสร็จ นางอดุลก็เข้าสิงทำให้รูปลบไม่ออก พระรามมาเห็นรูปภาพเข้าก็พิโรธมากว่านางสีดายังรักภักดีทศกัณฐ์ จึงสั่งพระลักษมณ์ให้ประหารนางสีดา พระลักษมณ์ไม่ทำซ้ำยังปล่อยนางหนีไป แล้วฆ่าควักหัวใจกวางนำไปถวายพระราม
นางสีดาไปอาศัยอยู่กับฤๅษีวัชมฤคจนกระทั่งประสูติพระโอรสของพระรามนามว่า พระมงกุฎ จากนั้นต่อมาพระฤๅษีก็ได้ชุบกุมารมาเป็นเพื่อนเล่นพระมงกุฎนามว่า พระลบ ทั้งสองกุมารเก่งกล้ามากจนสะเทือนไปถึงอโยธยา จนเกิดการต่อสู้กันระหว่างพ่อลูก ทว่าไม่รู้ผลแพ้ชนะ พระรามเอะใจเลยถามว่าพระมงกุฎเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ในที่สุดจึงได้รู้ว่า ผู้ที่ต่อสู้อยู่ด้วยนี้ คือพระโอรสองค์เดียวที่เกิดแต่มเหสีนางสีดานั่นเอง
พระรามง้องอนขอคืนดีกับนางสีดา แต่นางสีดาเข็ดขยาดในความฉุนเฉียวของพระราม นางจึงแทรกตัวลงไปเมืองบาดาลหนีพระราม พระรามจึงต้องออกผจญภัยอีกครั้งเป็นเวลา 1 ปี จนท้ายสุด พระอิศวรได้รับนางสีดาขึ้นมาและปรับความเข้าใจกับทั้งสอง จนในที่สุดพระราม และนางสีดา จึงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดมา
[แก้] ลักษณะและสี
สีนวลจันทร์หรือสีขาวผ่อง ๑ หน้า ๒ มือ มงกุฏนาง
[แก้] สวามีและโอรสธิดา
นางสีดาเป็นมเหสีของพระราม มีโอรส ๑ องค์ คือ พระมงกุฏ และมีบุตรเลี้ยง ๑ องค์ คือ พระลบ ซึ่งพระวัชมฤคฤษีชุบขึ้นมาให้เป็นพระอนุชาของพระมงกุฏ
บทความนี้เป็นบทความเกี่ยวกับ วรรณกรรม วรรณคดี นวนิยายหรือหนังสือ ที่ยังไม่สมบูรณ์ คุณสามารถช่วยแก้ไขเพิ่มเติมได้ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:โลกวรรณศิลป์ |
ดึงข้อมูลจาก "http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B2".
หมวดหมู่: บทความเกี่ยวกับ วรรณกรรม ที่ยังไม่สมบูรณ์ | นางในวรรณคดี | ตัวละครในรามเกียรติ์
หมวดหมู่ที่ซ่อนอยู่: บทความที่รอการตรวจสอบรูปแบบ
เครื่องมือส่วนตัว
เนมสเปซ
สิ่งที่แตกต่าง
ดู
การกระทำ
สืบค้น
ป้ายบอกทาง
มีส่วนร่วม
พิมพ์/ส่งออก
เครื่องมือ
ภาษาอื่น