อาการกระแอม (Chronic Throat Clearing) ถึงแม้จะไม่อันตรายร้ายแรง แต่อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอาย ไม่มั่นใจ หรือรู้สึกรำคาญในการเข้าสังคมกับผู้อื่น โดยเฉพาะเวลาพูด ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเสียไป อย่างไรก็ตามอาการกระแอม อาจเกิดจากโรคร้ายแรงที่ซ่อนอยู่ก็ได้ เช่น มะเร็งของคอ ดังนั้นถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้

อาการกระแอม เป็นอาการที่ร่างกายพยายามกำจัดเสมหะ สารคัดหลั่ง หรือสิ่งแปลกปลอมออกไปจากบริเวณคอ โดยใช้การเคลื่อ นไหว และการสั่นของกล้ามเนื้อบริเวณคอ และกล่องเสียง โดยสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการกระแอมก็ได้แก่ ความเจ็บปวด อาการคัน ระคายเคือง หรือความรู้สึกว่ามีอะไร เช่น มีเสมหะ อยู่ในลำคอ

ในคนปกติ อาการกระแอมอาจเกิดได้วันละ 2-3 ครั้ง หรืออาจเกิดหลายครั้งถึงบ่อยมากใน 1 ชั่วโมง หรือตลอดทั้งวัน ส่วนในคนที่มีโรคบางโรคซ่อนอยู่ ผู้ป่วยบางรายจะพยายามไอเพื่อขับเสมหะ หรือสารคัดหลั่งในคอ ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคือง หรือความไม่สบายในลำคอเรื้อรังออกมา หรือกระแอมเอาเสมหะขึ้นมา และกลืนลงคอไป

สำหรับสาเหตุของอาการกระแอมนั้น บางครั้งก็ยากที่จะค้นหา จึงอาจจะต้องอาศัยการคาดเดา และลองให้การรักษาดูว่าผู้ป่วยกระแอมน้อยลงหรือไม่ ถ้าน้อยลง ก็แสดงว่านั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระแอม แต่ในผู้ป่วยบางราย หลังจากที่ได้พยายามหาสาเหตุอย่างเต็มที่แล้ว ก็อาจจะไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกระแอมได้เลย

แม้ว่าผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไอแห้งๆ หรือรู้สึกว่ามีอะไร หรือเสมหะติดอยู่ในคอร่วมด้วย หรือรู้สึกคัน ระคายคอ คอแห้ง เสียงอาจแหบ รู้สึกอยากจะกลืนบ่อยๆ แต่ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มีปัญหากระแอมมักจะนอนหลับได้ดี มีผู้ป่วยบางรายเท่านั้นต้องตื่นกระแอมกลางดึก (เช่น โรคจมูกอักเสบ และ/ หรือไซนัสอักเสบ โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง) โดยอาการกระแอมในช่วงเวลากลางคืนมักน้อยกว่าในช่วงเวลากลางวัน เนื่องจากในเวลานอนการสร้างเสมหะ หรือสารคัดหลั่ง จะน้อยกว่าเวลาตื่นมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกถึงการมีเสมหะหรือสารคัดหลั่งมากนักขณะหลับ จึงไม่รู้สึกรำคาญมากนัก

สาเหตุ อาการกระแอมเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุดังนี้

1. สาเหตุที่เกิดจากระบบทางเดินหายใจ
1.1) โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ เนื่องจากเยื่อบุของผู้ป่วยโรคนี้มีความไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่างๆ จะกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในจมูก ซึ่งอาจไหลออกมาทางจมูกส่วนหน้า หรือไหลลงคอ ซึ่งน้ำมูกที่ไหลลงคอ ก็จะกลายเป็นเสลด หรือเสมหะในคอ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระแอมได้
1.2) ไซนัสอักเสบ เนื่องจากโรคนี้มีการอักเสบของเยื่อบุจมูกและไซนัส ซึ่งจะกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในโพรงจมูก ทำให้มีน้ำมูกไหลลงคอได้ นอกจากนั้นสารคัดหลั่งที่ออกจากไซนัส อาจผ่านรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูกออกมา และไหลลงคอ กลายเป็นเสมหะได้เช่นกัน ซึ่งเสมหะดังกล่าวจะทำให้เกิดการระคายคอ ผู้ป่วยจึงต้องกระแอม โดยโรคไซนัสอักเสบ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระแอมมากขึ้น เวลาล้มตัวลงนอน หรือตอนตื่นนอนตอนเช้า แต่ในระหว่างวัน มักจะมีอาการกระแอมน้อยลง
1.3) โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคหืด ทั้งสองโรคนี้จะมีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งสามารถกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในเยื่อบุหลอดลม ทำให้มีเสมหะในหลอดลมและคอ ผู้ป่วยจึงมีอาการกระแอมได้

2. สาเหตุที่เกิดจากระบบทางเดินอาหาร
2.1) ความผิดปกติทางกายวิภาคของคอ เช่น ต่อมทอนซิลที่ใหญ่มาก หรือลิ้นไก่ที่ยาวมาก ทำให้ต่อมทอนซิลหรือลิ้นไก่อาจไปสัมผัสกับฝาปิดกล่องเสียงเวลากลืน เกิดความรู้สึกระคายเคืองบริเวณลำคอ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระแอมได้
2.2) การติดเชื้อเรื้อรังบริเวณคอ ไม่ว่าจะเป็นจากเชื้อรา เชื้อวัณโรค เชื้อซิฟิลิส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ทำให้เกิดความรู้สึกระคายคอ ผู้ป่วยจึงมีอาการกระแอมได้
2.3) เกิดจากการระคายเคือง และ/หรือการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณลำคอ เช่น จากการสัมผัสสารเคมี มลพิษ สารระคายเคือง เนื่องจากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งเหล่านี้มาก รวมถึงการสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การไอ การอาเจียนที่บ่อยและเรื้อรัง เนื้องอกในลำคอ พังผืด แผลเป็นในลำคอ หรือแม้แต่การอยู่ในห้อง สถานที่ที่มีอากาศเย็นมาก
2.4) การดื่มน้ำไม่เพียงพอ อายุที่มากขึ้น หรือเคยได้รับการฉายรังสีบริเวณลำคอมาก่อน ก็อาจทำให้ผนังลำคอแห้ง และก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณลำคอ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระแอมได้
2.5) โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง เมื่อกรด หรือสารที่ไม่ใช่กรด (เช่น น้ำดี) ในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ ไหลจากหลอดอาหารขึ้นมาที่บริเวณลำคอ จะกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอ ทำให้มีเสมหะในลำคอได้ นอกจากนั้นกรดหรือสารที่ไม่ใช่กรดที่ไหลย้อนขึ้นมาที่คอ จะทำให้เกิดการอักเสบและการระคายเคืองของเยื่อบุลำคอ ทำให้กลไกในการกำจัดเสมหะของเยื่อบุลำคอผิดปกติไป จึงมีเสมหะค้างอยู่ที่ลำคอ ซึ่งเสมหะในคอที่มากขึ้น และการระคายเคืองดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระแอมได้ โดยโรคกรดไหลย้อนมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระแอมมากขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร เนื่องจากขณะรับประทานอาหารจะมีการกระตุ้นให้มีการสร้างกรดเพิ่มมากขึ้นในกระเพาะ และมีการสร้างน้ำลายในปากเพิ่มขึ้นด้วย ที่สำคัญโรคนี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระแอมขณะนอนหลับได้
2.6) กระเปาะที่ยื่นออกจากหลอดอาหารส่วนบน (Zenker’s diverticulum) ซึ่งอาจมีอาหาร น้ำลาย และเมือกค้างอยู่ภายใน เมื่อสิ่งที่อยู่ในกระเปาะดังกล่าวขึ้นมาจากหลอดอาหาร อาจทำให้เกิดการสำลัก หรือมีเสมหะ หรือเมือกในคอ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระแอมได้
2.7) แพ้อาหาร เมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารที่แพ้ อาจมีการระคายเคืองของเยื่อบุลำคอ ทำให้มีเสมหะในลำคอ ผู้ป่วยจึงมีอาการกระแอมได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ส่วนอาหารอื่นๆ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยกระแอมได้ก็อย่างเช่น ไข่ ข้าว น้ำนมถั่วเหลือง

3. สาเหตุอื่นๆ
3.1) ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น angiotensin-converting enzyme inhibitor (ACEI) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง เนื่องจากผลข้างเคียงของยาชนิดนี้อาจทำให้รู้สึกคัน ระคายเคืองในคอ ผู้ป่วยจึงต้องกระแอมบ่อยๆ หรือไอได้
3.2) ความผิดปกติของระบบประสาทที่เรียกว่า nervous TIC เป็นโรคที่มีความผิดปกติของการนำกระแสประสาทไปสู่กล้ามเนื้อบริเวณลำคอ เมื่อมีการกระตุก หรือการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณลำคอดังกล่าว อาจทำให้ผู้ป่วยระคายคอ มีอาการกระแอมได้
3.3) การใช้เสียงผิดวิธี การใช้เสียงในการพูดมากมักทำให้ผู้พูดต้องหายใจทางปาก ทำให้จมูกซึ่งมีหน้าที่ปรับอากาศที่หายใจเข้าไปให้อุ่นและชื้นขึ้น รวมถึงกรองสารระคายเคืองต่างๆ ในอากาศก่อนเข้าสู่ลำคอ จึงไม่ได้ทำหน้าที่ ทำให้อากาศที่ผ่านลำคอ แห้ง และเย็น ซึ่งร่างกายอาจปรับตัวโดยสร้างเสมหะในคอขึ้นมามากขึ้น เพื่อทำให้ผนังคอชุ่มชื้นขึ้น หรือสารระคายเคืองต่างๆ ในอากาศอาจเข้าไปสัมผัสกับลำคอโดยตรง จึงไปกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะให้ทำงานมากขึ้นได้ นอกจากนั้นการใช้เสียงมากๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอและกล่องเสียงถูกใช้งานหนัก จนเกิดการระคายเคืองบริเวณคอและกล่องเสียงได้โดยตรง เสมหะ ก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระแอมได้

4. สาเหตุจากนิสัย หรือการเรียนรู้ที่ผิดของผู้ป่วย
เมื่อผู้ป่วยมีเสมหะในลำคอที่จะต้องกระแอม เพื่อกำจัดเสมหะนั้น ผู้ป่วยจะมีความไวต่อการรู้สึกว่ามีเสมหะในลำคอมากกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ต้องกระแอมบ่อยๆ แม้ว่าจะมีปริมาณเสมหะในลำคอไม่มากก็ตาม ซึ่งการที่ต้องกระแอมบ่อยๆ จะทำให้เกิดการระคายเคืองของคอ และมีปริมาณของเสมหะในคอเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสายเสียงของผู้ป่วยอาจจะเกิดการกระแทกกันมากขึ้น ทำให้สายเสียงบวม และระคายเคืองมากขึ้น ผู้ป่วยจึงยิ่งรู้สึกว่ามีอะไรอยู่ในลำคอมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยต้องกระแอมมากยิ่งขึ้นไปอีก จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ (vicious cycle) แต่ถ้าไม่กระแอมบ่อยนัก เสมหะในคอก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงไปเอง จนไม่ต้องกระแอมอีกต่อไป ซึ่งแพทย์มักจะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีสาเหตุนี้ หลังจากได้ทำการตรวจหาสาเหตุทุกอย่างแล้ว แต่ไม่พบสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระแอม กล่าวคือได้วินิจฉัยแยกโรค หรือสาเหตุอื่นๆ ออกไปแล้วนั่นเอง

การหาสาเหตุ
1. การซักประวัติ แพทย์จะพยายามซักประวัติอาการทางจมูก คอ หลอดลม และปอด รวมถึงนิสัยส่วนตัว สิ่งแวดล้อม ยาที่ใช้ การใช้เสียง และอาการที่อาจช่วยบ่งบอกถึงโรคที่เป็นสาเหตุของอาการกระแอม
2. การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจจมูก โพรงหลังจมูก คอหอยส่วนบนและล่าง หลอดลมและปอด ซึ่งอาจช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุของอาการกระแอม
3. การส่งการสืบค้นเพิ่มเติม ได้แก่
- การส่งเอกซเรย์ปอด เพื่อดูว่ามีพยาธิสภาพที่ หลอดลม และปอดหรือไม่
- การส่งเอกซเรย์ไซนัส เพื่อดูว่ามีไซนัสอักเสบหรือไม่
- การทดสอบการทำงานของปอด เพื่อดูว่ามีภาวะหลอดลมไวผิดปกติที่จะบ่งบอกว่า ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังหรือโรคหืดหรือไม่
- การทดสอบภูมิแพ้ เพื่อดูว่าผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้ใด ที่อาจช่วยสนับสนุนให้ผู้ป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคหืดหรือไม่
- การส่องกล้องตรวจในระบบทางเดินหายใจ และ/ หรือระบบทางเดินอาหารส่วนบน เพื่อหาพยาธิสภาพในระบบทางเดินหายใจส่วนบน และ/ หรือหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระแอม
- การกลืนแป้ง (ถ้าผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบาก) เพื่อดูว่ามีพยาธิสภาพในหลอดอาหารส่วนบน (เช่น Zenker’s diverticulum) และล่างหรือไม่
- การตรวจค่าความเป็นกรด/ด่างในลำคอ และหลอดอาหาร เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง

การรักษา แพทย์จะรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกระแอม เช่น ถ้าเกิดจากผลข้างเคียงของยา ก็ควรจะหยุดยาชนิดนั้น หรือถ้าเกิดจากโรคไซนัสอักเสบ ก็ให้การรักษาไซนัสอักเสบ ในกรณีที่สาเหตุเกิดจากการเรียนรู้ที่ผิดของผู้ป่วย อาจต้องปรึกษานักแก้ไขการพูด หรือนักฝึกพูด (speech therapists) โดยมีเป้าหมายในการรักษาให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากจะกระแอมน้อยลง
นอกจากนี้ยังมีการแนะนำเทคนิคต่างๆ ที่อาจจะช่วยตัดวงจรอุบาทว์ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องกระแอมบ่อยๆ ดังนี้
-
ให้สูดหายใจอย่างเร็วและแรงเข้าไปในคอ และกลืนเสมหะลงไป ซึ่งเป็นวิธีการกำจัดความรู้สึกว่ามีอะไรในคอได้ดีที่สุด
-
ให้ดื่มน้ำแทน ดังนั้นควรพกขวดน้ำติดตัวเสมอ เพราะน้ำเป็นยาละลายเสมหะที่ดีที่สุด คือทำให้เสมหะในลำคอเหนียวน้อยลง และถูกกำจัดได้ง่ายขึ้น
-
ให้อมลูกอมที่ไม่มีสารเมนทอล เพราะจะช่วยเพิ่มน้ำลายและความชุ่มชื้นให้กับลำคอ
-
ให้พยายามกลืนไปเรื่อยๆ ราวกับว่าผู้ป่วยมีอะไรอยู่ในลำคอ ซึ่งจะช่วยลดความรู้สึกว่ามีอะไรอยู่ในลำคอลงได้
-
ให้กระแอมด้วยความนุ่มนวล หรือกระแอมเงียบๆ อย่าให้มีเสียงดัง ไม่กระแอมแรง เพื่อไม่ให้สายเสียง ซึ่งมีขนาดเล็ก เกิดการบาดเจ็บ โดยการปิดปาก และกระแอมช้าๆ เพียง 1-2 ครั้ง จะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อสายเสียงน้อยที่สุด
- ให้กลั้วคอด้วยน้ำโซดาแช่เย็นที่ไม่มีน้ำตาล

นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยกระแอมน้อยลงอีก เช่น
- ควรเปิดเครื่องปรับอากาศให้อุ่นและชื้นขึ้น หรือให้ดื่มน้ำมากขึ้น ในหน้าหนาวหรือในเวลาที่ต้องอยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศเป็นเวลานาน เพื่อทำให้เยื่อบุลำคอที่แห้งและระคายเคืองมีอาการดีขึ้น
-
ควรจิบน้ำอุ่นผสมน้ำมะนาวและน้ำผึ้งบ่อยๆ ถ้าต้องพูดบรรยาย หรือพูดเป็นระยะเวลานาน เพื่อไม่ทำให้ปากและคอแห้ง
-
ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมัน หรือผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งจะทำให้มีเสมหะ หรือมีเมือกมากขึ้น และข้นขึ้น
อะแฮ่มๆ จะได้ช่วยให้อาการกระแอมลดลง

ขอขอบคุณ ที่นี่, HealthToday

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง เข้าสู่ระบบ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? สมัครสมาชิก

x
กระทู้ตอบกลับ
โพสต์ใหม่ขึ้นก่อน

264ดู1ตอบกลับ

gangk 2013-8-29 05:44:18
ขอบคุณมากครับ
ตั้งกระทู้ใหม่
สำหรับคนที่ขี้เกียจพิมพ์
คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนที่จะตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

รายละเอียดเครดิต