คอลัมน์ พบอายุรแพทย์ โดย นพ. สราวุฒิ สนธิแก้ว
โรคไขมันพอกตับเป็นโรคที่ประชาชนได้ยิน ได้ฟังบ่อยมากขึ้นทุกวัน อายุรแพทย์จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับมาให้ตรวจรักษาหรือขอคำปรึกษาอยู่เสมอ โรคนี้ ถ้าได้ยินชื่อแล้วอาจวาดภาพในใจว่า ไขมันคงหุ้มอยู่รอบ ๆ เนื้อตับของผู้ป่วย แต่ข้อเท็จจริงคือ ไขมันจะแทรกอยู่ในเนื้อตับ โดยที่ดูภายนอกแล้วอาจนึกไม่ถึงว่า ผู้ป่วยเป็นโรคไขมันพอกตับ ผลของไขมันที่แทรกอยู่กายในเนื้อตับนี้จะมีผลต่อพยาธิสภาพของตับต่อไป
ด้วยเหตุที่โรคนี้ไม่แสดงอาการ เมื่อทราบว่าป่วยด้วยโรคนี้ผู้ป่วยมักจะมีข้อสงสัยสอบถามแพทย์ ดังนี้
1) อะไรคือสาเหตุของโรคไขมันพอกตับ? โรคนี้พบร่วมกับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วนและความผิดปกติของการเผาผลาญไขมัน ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคตับจากเชื้อไวรัส ตับอักเสบจากการดื่มสุรา จากยาหรือสารเคมีอื่น ๆ ฯลฯ โดยที่ไขมัน โดยเฉพาะไขมันไตรกรีเซอร์ไรด์ ไปแทรกตัวอยู่ในเนื้อตับ ไขมันที่แทรกตัวอยู่ในระยะแรกไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตับ แต่เมื่อระยะผ่านไป ไขมันเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการอักเสบของตับ ซึ่งจะขยายตัวมากขึ้น และบริเวณที่อักเสบที่รุนแรงขึ้นจะเปลี่ยนสภาพเป็นพังผืด ซึ่งเมื่อขยายตัวมากขึ้น เนื้อตับจากที่ดี ๆ จะกลายเป็นตับแข็งในที่สุด
2) มีอาการอย่างไรและจะรู้ได้อย่างไรว่าไขมันพอกตับ? ในระยะแรกไม่มีอาการ ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวว่าเจ็บป่วย แต่เมื่อเริ่มเกิดการอักเสบ ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 10 - 20 ปี อาจตรวจพบว่ามีเอนไซม์ของตับสูงกว่าปกติ ซึ่งส่วนมากจะรู้ได้เมื่อไปตรวจสุขภาพประจำปีหรือป่วยด้วยโรคอื่น และแพทย์ผู้รักษา มีการตรวจเช็คการทำงานของตับร่วมด้วย ถ้าปล่อยทิ้งไว้ถึงระยะที่กลายเป็นโรคตับแข็ง อาการผู้ป่วยก็จะชัดเจนขึ้น เช่น แน่นบริเวณชายโครง อืดท้อง อ่อนเพลียไม่มีแรง ตัวเหลือง ตาเหลือง ฯลฯ ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไขมันพอกตับแล้วเมื่อใดหรือใครจะเป็นโรคตับอักเสบและลงท้ายด้วยตับแข็ง แต่ที่รู้แน่คือถ้าไม่รีบแก้ไขโรคที่ดูไม่รุนแรงในช่วงแรกสุดท้ายอาจจบลงด้วยโรคที่รักษาไม่หายเช่นโรคตับแข็ง
การวินิจฉัยนี้ที่แน่นอนคือ การใช้เข็มเจาะเนื้อตับมาตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพ ซึ่งจะพบไขมันแทรกอยู่ในเนื้อตับ พร้อมกับมีลักษณะการอักเสบกระจายตัวอยู่มากน้อยขึ้นกับระยะเวลาที่ป่วยเป็นโรค และความรุนแรงของโรค ปัจจุบันมีวิธีวินิจฉัยที่ดูรุนแรงน้อยกว่า โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงตรวจบริเวณตับ
3) ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้แล้วจะทำการรักษาอย่างไร? เนื่องจากโรคมักเกิดร่วมกับโรคหรือปัญหาอื่นที่ทำให้มีความผิดปกติของการเผาผลาญไขมันดังกล่าวแล้วข้างต้น เป็นเหตุให้ไขมันไปสะสมในตับ ดังนั้นเมื่อพบว่าเป็นโรคไขมันพอกตับ แพทย์จะพยายามควบคุมโรคที่พบร่วมกันเช่น เบาหวาน โรคอ้วน หรือแนะนำให้หยุดใช้สารเคมีหรือยาที่อาจเพิ่มการอักเสบของตับ เช่น สุรา พยายามลดระดับไขมันในเลือดไม่ให้สูง ในกรณีที่เริ่มมีอาการอักเสบ อาจมีการพิจารณาใช้ยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบของตับเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคตับแข็ง มีหลักฐานชัดเจนจากการศึกษาพบว่าการหยุดดื่มสุราเด็ดขาด การลดน้ำหนักตัวในคนอ้วนสามารถลดปริมาณไขมันในตับอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ดี การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยการปรับพฤติกรรมที่อาจทำลายสุขภาพและเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคต่าง ๆ เช่น การงดสุรา การลดน้ำหนักลง ไม่ให้อ้วน การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ถ้าเป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ก็ต้องใส่ใจในการรักษาควบคุมโรคอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นวิธีการป้องกันโรคไขมันพอกตับที่ปฏิบัติได้ด้วยตนเอง
ที่มา : หน้าพิเศษ Hospital Healthcare นสพ.มติชน ขอขอบคุณ ที่นี่ |