"โอ๊ย...เผ็ดๆๆ น้ำตาจะไหลแล้ว ส้มตำจานนี้เผ็ดจังเลย ดื่มน้ำไปตั้งหลายแก้วก็ยังไม่หายเสียที ถ้าอย่างนั้นฉันขอน้ำเย็นอีกสักแก้วสิเธอ"
หยุดก่อนค่ะ อาจเป็นความเข้าใจผิดของใครหลายๆ คนที่เคยเกิดอาการเช่นนี้ และแก้ไขด้วยการดื่มน้ำเย็น คุณเคยสงสัยไหมว่าถึงแม้เราจะดื่มน้ำไปหลายแก้วก็ยังไม่หายเผ็ดเสียที แถมยิ่งรู้สึกเผ็ดมากขึ้นด้วยซ้ำนั้นเป็นเพราะอะไร
รสชาติอันเผ็ดร้อนของพริกนั้นมาจากสารประกอบเข้มข้นที่มีชื่อว่า แคปไซซิน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแก่นสีขาวใจกลางพริกและเมล็ดพริก นอกจากนี้ยังกระจายไปทั่วเนื้อพริก เมื่อเรากินอาหารที่มีพริกเข้าไป แคปไซซิน จะทำให้เกิดรสชาติเผ็ดร้อนในปาก จนทำให้น้ำมูกน้ำตาไหลได้ ดื่มน้ำเย็นเข้าไปก็จะยิ่งกระจายสาร แคปไซซิน ซึ่งเป็นตัวการความเผ็ดไปทั่วปาก จึงทำให้เรารู้สึกเผ็ดมากขึ้น
ในขณะที่บางคนลงครัวช่วยคุณแม่ทำกับข้าวและหั่นพริก ก็อาจจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่มือได้เพราะสัมผัสกับแคปไซซินที่ทำให้ระคายเคืองผิวเข้าให้ เรามี 4 วิธีการดีๆ ที่ช่วยดับความเผ็ดร้อนของพริกมาฝากคุณค่ะ
1. ใช้ความหวานเข้าช่วย เคี้ยวโดนเม็ดพริกขี้หนูเข้าไปเต็มปาก ต้องใช้ความหวานของอาหารใกล้ๆ ตัว เช่น ข้าวกล้อง ข้าวเหนียว หรือขนมปังโฮลวีทนุ่มๆ ที่ช่วยคุณได้ เพราะความหวานของอาหารเหล่านี้จะช่วยดูดซับสารแคปไซซินที่ทำให้เกิดความเผ็ดร้อนให้หมดไป
2. ผลไม้แก้เผ็ด ใช้วิธีดื่มน้ำมะนาวหรือน้ำมะเขือเทศสดๆ จะช่วยแก้เผ็ดได้เช่นกัน เพราะกรดจากผลไม้เหล่านี้จะไปทำปฏิกิริยากับสารดังกล่าว ซึ่งเป็นด่าง ทำให้ความเผ็ดลดลง
3. เกลือบรรเทาปวดแสบร้อน หากคุณหั่น ซอย หรือว่าเด็ดพริกขี้หนู แล้วแสบร้อนไปทั่วบริเวณนิ้ว หรือมือที่สัมผัสกับพริกขี้หนู แก้ได้ไม่ยากค่ะ โดยนำเกลือแกงที่เราใช้ปรุงอาหาร สักหนึ่งช้อนแกง ลูบลงบนมือถูไปถูมา ความแสบร้อนก็จะคลายลงค่ะ
4. ลูบถูแป้งคลายร้อน หากหยิบเลือกพริกจนมือรู้สึกแสบร้อนแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยคุณได้ ลองใช้แป้งเด็กทาตัว หรือแป้งหมี่ที่เราใช้ทำอาหาร ลูบถูไปมาตรงบริเวณมือและนิ้วที่รู้สึกแสบร้อน สักครู่ก็จะรู้สึกดีขึ้นค่ะ เพราะฤทธิ์เยอะ เยียวยายากอย่างนี้เอง ชีวจิตจึงไม่แนะนำให้กินรสจัด ถ้ายังไม่เชื่อก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ก็ต้องทนเผ็ดกันไปนะคะ ขอขอบคุณ ที่นี่, จิ่มจุ่ม |