ร่างกายของคนเรานี้ช่างซับซ้อน บางครั้งมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น แต่กลับหาสาเหตุที่แท้จริงไม่พบ ปัญหาจึงถูกแก้ไม่ตรงจุด เช่นเรื่องทางเดินอาหาร ที่นายแพทย์บุญเลิศ อิมราพร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร เล่าไว้ในนิตยสารสุขภาพของโรงพยาบาลเวชธานี คุณหมอบุญเลิศ เผยว่า หลาย คนมีอาการของโรคทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก กลืนติด แต่เมื่อไปพบแพทย์และได้รับการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารหรือลำไส้ใหญ่ ปรากฏว่า ไม่พบความผิดปกติ !? หนึ่งในสาเหตุของโรคทางเดินอาหารที่ตรวจส่องกล้องแล้วไม่พบความผิดปกติ คุณหมอบุญเลิศ บอกว่าคือ โรคที่มีการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารผิดปกติ โดยมีตัวอย่างมาเล่าให้ฟังว่า หญิงไทย อายุ 30 ปี มาตรวจด้วยอาการท้องผูกที่เป็นเรื้อรังกว่า 10 ปี ต้องกินยาระบายทุกวัน ร่วมกับการส่วนอุจจาระเป็นบางครั้ง เมื่อปวดอยากถ่ายแต่ก็รู้สึกถ่ายไม่สุด นั่งนาน บางครั้งต้องใช้น้ำฉีด หรือใช้นิ้วล้วงออก เคยได้รับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ก็ไม่เจอความผิดปกติ เมื่อนำผู้ป่วยรายนี้ ไปตรวจดูการเคลื่อนไหวของลำไส้และตรวจการทำงานของหูรูดทวารหนัก พบว่า ผู้ป่วยมีภาวะหูรูดทำงานไม่สัมพันธ์กับการเบ่งอุจจาระ โดยอาจเรียกง่ายๆ ว่า เบ่งอุจจาระไม่เป็น หรือเบ่งไม่ถูกต้อง เมื่อเจอสาเหตุที่แท้จริง คุณหมอบุญเลิศ บอกว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวได้รับการรักษาด้วยวิธีการฝึกเบ่งอุจจาระด้วยการใช้เครื่องมือช่วยฝึก และสามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ สำหรับ หลักการตรวจการเคลื่อนไหวทางเดินอาหารนี้ เรียกว่า มาโนเมทรี (Manometry) ใช้หลักการวัดความดันที่เกิดขึ้นในทางเดินอาหารทั้งขณะพักและขณะที่มีการ เคลื่อนไหว ทำให้สามารถตรวจดูความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะนั้นได้ เครื่องมือนี้ใช้ตรวจได้ทั้งการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก เป็นต้น โดยดูได้ว่ามีการเคลื่อนไหวที่ลดลง หรือหดรัดตัวมากเกินไป ส่วนขั้นตอนการรักษา ไม่จำเป็นต้องใช้ยานอนหลับหรือยาสลบ อุปกรณ์ที่ใช้ตรวจมีสองอย่างที่สำคัญ คือ สายที่ใช้ในการวัดความดันภายในทางเดินอาหาร และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมบันทึกและแปลผลตรวจ ใช้เวลาตรวจราว 30 นาที-1 ชั่วโมง หากเป็นการตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร ให้งดน้ำและอาหารก่อนตรวจ โดยแพทย์จะใส่สายตรวจทางจมูก แต่ถ้าตรวจหูรูดทวารหนัก ต้องสวนอุจจาระออกก่อนตรวจ แล้วแพทย์จะใส่สายทางทวารหนัก. ขอขอบคุณ ที่นี่, จิ่มจุ่ม |