"ไทม์ แมชีน" ที่เรารู้จักมักคุ้นกัน มีอยู่ในการ์ตูนอย่าง โดราเอมอนหรือในนวนิยายวิทยาศาสตร์และภาพยนตร์แนวไซไฟ ในความเป็นจริงแม้แต่ในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ของนักฟิสิกส์เลื่องชื่ออย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ก็ยังพูดถึงการเดินทางข้ามกาลเวลาเอาไว้ เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันเฉยๆเท่านั้น นักฟิสิกส์และนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีที่ครอบคลุมถึงทุกอย่างที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในจักรวาลทฤษฎีนี้เข้าใจกันดีว่า อย่างน้อยที่สุด การเดินทางข้ามเวลาไป "ข้างหน้า" ก็มีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎี
จริงๆ แล้ว ในเวลานี้ นักฟิสิกส์ก็ประสบความสำเร็จในการส่งอนุภาคขนาดเล็กมากที่เรียกว่า "มิวออน"(อนุภาคแบบเดียวกับอิเล็กตรอน) ข้ามเวลาไปข้างหน้าได้ด้วยการบิดเบือนสภาวะแรงโน้มถ่วงที่อยู่โดยรอบตัวอนุภาค แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการส่งมนุษย์หรืออากาศยาน หรืออวกาศยานข้ามกาลเวลาไปสู่ที่หมายในอีก 100 ปีข้างหน้า จะมีความเป็นไปได้ในเร็วๆ นี้เพียงแค่ในทางทฤษฎีเท่านั้น ในทางปฏิบัติจริงยังต้องมีหลายอย่างต้องทำ ต้องศึกษาวิจัยและคิดค้นกันอีกมาก
ที่เป็นปัญหามากกว่า และเป็นที่ถกเถียงกันมากแม้แต่ในหมู่นักฟิสิกส์ด้วยกันเองก็คือการเดินทาง "ย้อนเวลา"กลับไปในอดีต
นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ถือว่าการเดินทางย้อนเวลากลับไปในอดีต "ทำไม่ได้" แต่นักฟิสิกส์อีกบางคนกลับมั่นใจว่า"ทำได้"
เอริค ดับเบิลยู. เดวิส นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากสถาบันนานาชาติ เอิร์ธเทค ในเมืองออสตินรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เพิ่งนำเสนอแนวความคิดเรื่องการเดินทางข้ามและย้อนกาลเวลาเอาไว้ในวารสารสถาบันอเมริกันเพื่อแอสโตรนอติคส์และแอโรนอติคส์ ฉบับประจำเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บอกเอาไว้ว่าองค์ความรู้ทางฟิสิกส์ที่เรามีอยู่ในทุกวันนี้ มีมากเพียงพอต่อการหาทาง"ท่องไปในกาลเวลา" ได้แล้ว
เขาบอกว่าทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเป็น "ไทม์แมชีน" ของมนุษย์ คือสิ่งที่ถูกเรียกว่า "รูหนอน" หรือ"เวิร์มโฮล" ซึ่งไอน์สไตน์ "ทำนาย" เอาไว้ในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปนั่นเอง
หลักการทำงานของการใช้ "รูหนอน" ท่องกาลเวลาของเดวิสก็เป็นหลักการเดียวกันกับที่นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่เชื่อว่า "วาร์ฟไดรฟ์" หรือการเดินทางของยานอวกาศด้วยความเร็วเหนือ"แสง" เป็นไปได้นั่นเอง
นั่นคือ ถ้าเราสมมุติ เวลา ณ ปัจจุบันเป็น จุด ก. แล้วต้องการเดินทางไปยังจุดข. ที่อยู่ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าให้เร็วที่สุด เร็วกว่าแสงเดินทางระหว่างจุดทั้งสองให้ได้ก็ต้องใช้ "ทางที่ลัด" ที่สุด ระหว่างจุดสองจุดดังกล่าว
เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ลองสมมุติให้จุดทั้งสองอยู่บนปลายสองข้างของแผ่นกระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งวางอยู่ในแนวระนาบระยะห่างระหว่างจุดทั้ง2เป็นตัวแทนของ "เวลา" หรือ "กาล" ในการเดินทาง ส่วนแผ่นกระดาษทำหน้าที่เป็น "ช่องว่าง" หรือ "สเปซ"ระหว่างจุดทั้งสอง
ทีนี้ถ้าหากเรางอกระดาษให้ปลายสุดทั้งสองข้างย่นเข้าหากัน ระยะห่างระหว่างจุดก. กับจุด ข. บนแผ่นกระดาษจะถูกหดแคบเข้าหากัน ในขณะที่สเปซ หรือช่องว่างยังคงเท่าเดิมเพียงแค่ถูกโค้งงอไปเท่านั้น
ต่อไป ถ้าหากเราสามารถเจาะ "ช่อง" หรือ "รู"ให้อะไรลอดไปมาระหว่างจุด ก. กับจุด ข. ได้ แล้วส่งสิ่งของผ่านรูดังกล่าวของสิ่งนั้นก็จะเดินทางไปและกลับในกาลเวลาได้ เร็วกว่าการเดินทางไปตามสเปซหรือช่องว่างปกติ ซึ่งกินเวลาตามปกติ
นั่นคือการ "ข้าม" กาลเวลา หรือ "ย้อน" กาลเวลาโดยอาศัยรูที่ว่า ซึ่งเรียกกันว่า "รูหนอน" นั่นเอง ที่สำคัญก็คือ การเดินทางนี้ไม่ได้ทำลายกฎทางฟิสิกส์ที่ว่าวัตถุไม่สามารถเดินทางเร็วกว่าแสงได้ เพราะในความเป็นจริงแล้วเราไม่ได้เดินทางเร็วกว่าแสง แต่อาศัย "ทางลัด" ที่ใช้เวลาเดินทางน้อยที่สุดเท่านั้น
เดวิสเชื่อว่าในอนาคต เราจะใช้วิธีการนี้เดินทาง"ย้อนเวลา" ได้ นั่นหมายถึงว่า "รู" ที่ว่านั้น คือ"ไทม์ แมชีน" ของเรานั่นเอง
แต่ในความเป็นจริง ในการเดินทางข้ามเวลาไปมา เราไม่เพียงต้องคำนึงถึงเรื่องของไทม์และสเปซเท่านั้นยังต้องคำนึงถึงอีกหลายอย่างหลายประการ อาทิ แรงโน้มถ่วง เป็นต้น เรื่องที่คิดว่าง่ายๆก็เลยไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
แถมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์อย่าง โรเบิร์ต โอเวน แห่งโอเบอร์ลิน คอลเลจในโอไฮโอ ก็ออกมาค้านสุดตัวว่า ทั้งหมดนั่นขัดกับกฎทางฟิสิกส์หลายข้อมาก และเมื่อเราเข้าใจกฎแห่งฟิสิกส์อย่างถ่องแท้ทะลุปรุโปร่งแล้ว
เราจะรู้โดยพลันว่าการเดินทางข้ามเวลาไปมานั้น เป็นไปไม่ได้
ขอขอบคุณ ที่นี่, จิ่มจุ่ม, มติชน
|