10โปรแกรมสุขภาพ ตรวจถูกวิธีลดเสี่ยงโรค
โปรแกรมตรวจสุขภาพที่สารพัดโรงพยาบาลจัดไว้ให้ จะมีกี่คนที่ทราบว่าจำเป็นสำหรับตัวเอง!!
การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดีมากหากการตรวจเหมาะสม เพราะนอกจากจะคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปแล้ว ยังลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น โดยพบว่า ปี 2554 ประชาชนมีการใช้จ่ายเงินเพื่อตรวจสุขภาพสูงถึง 2,200 ล้านบาท
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ทำงานวิจัยเรื่อง "การตรวจคัดกรองสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย" ซึ่งกำลังจะมีการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ และนำเสนอต่อผู้วางนโยบายระดับประเทศต่อไป นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) อธิบายว่า งานวิจัยดังกล่าวได้ผ่านการระดมความคิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ระดับราชวิทยาลัยแพทย์หลายต่อหลายครั้งจนได้ข้อสรุป การตรวจสุขภาพ หมายถึง การคัดกรองสุขภาพเพื่อหาโรคหรือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคในประชากรที่ยังมีสุขภาพดีเพื่อหวังผลในการป้องกันโรคลดความเสี่ยง หรือการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของโรค โดยจะไม่รวมถึงการตรวจเพื่อยืนยันโรค การดูแลภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เพราะการตรวจคัดกรองโรค สามารถเกิดผลบวกลวง ลบลวงได้
การตรวจคัดกรองสุขภาพยังควรหลีกเลี่ยงการคัดกรองแบบเหวี่ยงแห ที่ตรวจแบบไร้เป้าหมาย เพราะอาจก่ออันตราย เช่น การใช้เครื่องซีทีสแกนซึ่งมีรังสีมากกว่าการเอกซเรย์ 100 เท่า เป็นต้น
สำหรับโปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับเพศ วัย และวิธีการตรวจ ซึ่งจะทำให้ได้รับการวินิจฉัย รักษา และป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการวิเคราะห์ออกมาเป็นโปรแกรม โดยจะต้องไม่นับรวมกรณีที่เกิดความผิดปกติกับร่างกายเป็นพิเศษ และต้องตรวจเพื่อวิเคราะห์ หรือเป็น ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยจะมีราคาค่าตรวจอยู่ที่ 380-400 บาท
ได้แก่
1.ตรวจเอชไอวี ตามความสมัครใจ ตั้งแต่อายุ 13-50 ปี
2.ตรวจโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ ใช้วิธีตรวจไวรัสตับอักเสบบีและให้วัคซีนในผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ตั้งแต่อายุ 31-40 ปี ซึ่งตรวจเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอ
3.ตรวจโรคโลหิตจาง เพื่อตรวจความสมบูรณ์เม็ดเลือด หรือปริมาตรเม็ดเลือดแดง ควรทำในอายุ 9-12 เดือน
4.ภาวะทุพโภชนาการ วัดดัชนีมวลกายเมื่ออายุ 15 ปีขึ้นไป และซักประวัติเพิ่มในผู้สูงอายุที่เกิดภาวะทุพโภชนาการ
5.โรคเบาหวาน เจาะระดับน้ำตาลในเลือดเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป และตรวจทุก 5 ปี
6.โรคหัวใจขาดเลือด เป็นการประเมินความเสี่ยงโดยรวม เช่น วัดความดัน รอบเอว น้ำตาลในเลือด ประวัติการสูบบุหรี่ ตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนการวัดความดันควรเริ่มตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป
7.โรคหลอดเลือดสมอง สำหรับ ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ต้องคลำชีพจรทุกครั้งที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ หากผิดปกติให้ส่งตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อไป
8.โรคมะเร็งปากมดลูก ตรวจแปปสเมียร์ หรือ วีไอเอ เมื่ออายุ 30-60 ปี ทุก 5 ปี หรือเมื่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์
9.ปัญหาการดื่มสุรา เป็นการใช้แบบทดสอบและให้คำแนะนำ ควรทำอายุ 15-60 ปี ทุกปี
และ 10.การป้องกันอุบัติเหตุจราจร อายุ 65 ปีขึ้นไป ให้วัดสายตาก่อนต่อใบขับขี่
สิ่งสำคัญอีกประการ คือ ต้องทราบว่าตัวเองมีความเสี่ยงอะไร มีความผิดปกติเรื่องไหน ก่อนการตรวจสุขภาพแต่ละครั้ง เพื่อให้ได้รับบริการที่เหมาะสม ไม่ต้องจ่ายเงินไปแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ขอขอบคุณ ที่นี่, หนูแพร, ประชาชาติ |