เช็คอินสะสม: 1685 วัน เช็คอินต่อเนื่อง: 1 วัน
ความคืบหน้าการอัพเกรด: 22%
|
สมาชิก kulasang.net เท่านั้นถึงจะสามารถเข้าเนื้อหาได้อย่างสมบูรณ์
คุณจำเป็นต้อง เข้าสู่ระบบ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? สมัครสมาชิก
x
วันนี้(3ก.ย.) ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลการประชุมของเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF)- The Global Cometitiveness Report 2012-2013 ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ ซึ่งผลที่ได้จากการประชุมจะมีส่วนสำคัญในการเสนอแนะทิศทาง การกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาระหว่างประเทศนั้น จากการการประชุมดังกล่าวได้จัดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ซึ่งมีคะแนนต่ำที่สุด รองจากเวียดนาม ที่ได้อันดับ 7 และกัมพูชาได้อันดับ 6 สะท้อนให้เห็นว่าเงินทุนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดของการมีระบบการศึกษาที่ดี และการที่ครูอาจารย์มีเงินเดือนสูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสามารถทางการสอนสูงตามไปด้วย ซึ่งประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการผลักดันเรื่องเงินเดือนครู ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็ต้องเร่งรัดครูในเรื่องประสิทธิภาพการสอนควบคู่กันไปด้วย
ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีที่สุดในอาเซียนได้แก่ สิงคโปร์ รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย บรูไน ดารุสซาลาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม และไทย ซึ่งนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ. ให้ความสนใจเรื่องนี้มาก และได้สั่งการให้ตนวิเคราะห์ที่มาที่ไปของผลการจัดอันดับ ซึ่งตนจะต้องไปศึกษาว่าผลการจัดอันดับที่ออกมามีความเที่ยงตรงมากน้อยแค่ไหน โดยจะต้องดูวิธีการจัดว่าใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดบ้าง แต่เท่าที่ดูหลัก ๆ เป็นการประเมินภาพรวมการจัดการศึกษาของแต่ละประเทศ และรู้สึกว่าจะนำคะแนนการสอบประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ Program for International Student Assessment (PISA) มาเป็นองค์ประกอบด้วย ซึ่งตรงนี้ต้องไปดูรายละเอียด เพราะถ้าดูข้อมูลคะแนนสอบPISA 2012 ที่กำลังจะประกาศผลเร็ว ๆ นี้ ประเทศเวียดนามเพิ่งเข้าสอบครั้งแรก และขณะนี้เริ่มทราบผลคะแนนแล้วว่า คะแนนคณิตศาสตร์ของเวียดนามได้สูงพอ ๆ กับประเทศจีน ที่เพิ่งเข้าสอบPISA ในปี 2009 แต่เท่าที่ดู เวียดนามน่าจะติดอันดับ 1 ใน 5 มากกว่า ดังนั้นจึงต้องไปศึกษาวิธีการประเมินและตัวชี้วัดให้ละเอียดก่อน จึงจะสามารถวิเคราะห์ผลการจัดอันดับครั้งนี้ได้
“ข้อมูลนี้ถือว่าน่าตกใจ เพราะอันดับของเราต่ำมาก แต่เมื่อเทียบในอันดับโลกเรายังอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ต่ำขนาดนี้ จึงต้องไปวิเคราะห์ข้อมูลให้ชัดเจนก่อนว่า เป็นเพราะอะไร แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาไทยก็ต้องมีการปรับใหญ่ทั้งระบบ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่การปรับหลักสูตรเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญต้องไปดูการจัดการศึกษาในภาพรวมว่า ได้มาตรฐานโลกหรือไม่ และถ้าดูจากผลการวิเคราะห์คะแนนPISA ที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดเจนว่า เด็กไทยคิดไม่เป็น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ประเด็นสำคัญที่เราจะต้องไปเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ ปฏิรูปวิธีการเรียนการสอน และปฏิรูปครู ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบการศึกษา” ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช กล่าว
ที่มา เดลินิวส์
|
|