นักวิทยาศาสตร์อินโดนีเซีย ร่วมมือกับห้องปฏิบัติการจากประเทศญี่ปุ่น ตรวจวิเคราะห์หาองค์ประกอบของกาแฟลูวัก หรือที่เรียกกันในภาษาถิ่นว่า "โกปี๊ ลูวัก" เพื่อสร้างมาตรฐาน กำหนดเกรด และแก้ปัญหาการปลอมปน
"โกปี๊ ลูวัก" หรือที่คนไทยเรียกกันว่า "กาแฟขี้ชะมด" ได้รับการยอมรับกันว่าเป็นกาแฟที่แพงที่สุดในโลก ราคาอยู่ประมาณ 150-227 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หรือตกกิโลกรัมละ 10,000-15,000 บาทโดยประมาณ เป็นกาแฟที่ได้จากการที่ชะมดเอเชีย (asian palm civet) หรือที่บ้านเราเรียกว่า "อีเห็นข้างลาย" สายพันธุ์พารา
ด็อกเซอรัส เฮอร์มาโฟรดิตัส (Paradoxurus hermaphroditus)
กินผลกาแฟอาราบิกาสด แล้วถ่ายเม็ดกาแฟทิ้งออกมาพร้อมกับมูลของมัน ผู้ผลิตจะนำเอามูลของชะมดเอเชียดังกล่าวนี้มาล้างทำความสะอาดแล้วหมักเม็ดกาแฟดังกล่าวไว้ระยะหนึ่งก่อนนำมาตากให้แห้งแล้วนำไปคั่วบดเพื่อจำหน่ายต่อไป ปัญหาที่อินโดนีเซียเผชิญอยู่ในเวลานี้ก็คือ เมื่อเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก
กาแฟขี้ชะมดจริงแล้วผลิตออกมาได้น้อยมาก เชื่อกันว่าอยู่ในราว 500 ปอนด์ต่อปีเท่านั้น จนมีราคาแพง และเป็นเหตุให้มีการนำเอากาแฟทั่วไปมา "ปลอม" เป็นกาแฟขี้ชะมดขาย หรือบางทีก็ปลอมปนด้วยการนำเอากาแฟทั่วไปผสมเข้ากับกาแฟขี้ชะมด จำหน่ายในราคาแพง จนทางการอินโดนีเซียหวั่นเกรงว่าจะสร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของ "โกปี๊ ลูวัก" ไปในที่สุด
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สถาบันวิจัยโกโก้และกาแฟแห่งอินโดนีเซีย (ไอซีซีอาร์ไอ) จึงพยายามหาหนทางพิสูจน์ความเป็นกาแฟขี้ชะมดแท้ เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานให้กับผู้ผลิตต่อไปในอนาคต ด้วยการมอบหมายให้ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินการตรวจวิเคราะห์กาแฟทั่วประเทศอินโดนีเซีย สำหรับกำหนดมาตรฐานของกาแฟขี้ชะมดต่อไป
เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโอซากา นำโดยซาสเตีย ปูตรี นักชีวเทคโนโลยี
ตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีทั้งของ "โกปี๊ ลูวัก" และกาแฟสายพันธุ์อื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อหาส่วนที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างโกปี๊ ลูวัก ที่ราคาแสนแพงกับกาแฟทั่วๆ ไป ด้วยการนำเอากาแฟมาบดละลาย แล้วทำให้ระเหยเป็นฟองก๊าซกักเก็บไปในชั้นของน้ำมันซิลิโคน นำไปผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปเพื่อแยกโมเลกุลของกาแฟแต่ละชนิดออกมาสำหรับจำแนกส่วนประกอบออกมาให้ชัดเจน
ทีมวิจัยพบว่า "โกปี๊ ลูวัก" เต็มไปด้วยกรดไซตริกและมาลิค ซึ่งทำให้มีกลิ่นหอมเป็นกลิ่นผลไม้
คือกลิ่นไซตรัสและกลิ่นแอปเปิ้ลผสมผสานกัน ทีมวิจัยเชื่อว่าเอนไซม์ที่อยู่ในระบบย่อยอาหารกับจุลินทรีย์ในลำไส้ของมัน เป็นตัวการทำให้เม็ดกาแฟที่หลงเหลือจากการย่อยของชะมดเอเชียมีกรดและมีกลิ่นดังกล่าวนี้มากเป็นพิเศษ และระดับของกรดไซตริกกับมาลิคในเม็ดกาแฟโกปี๊ ลูวัก นี่เองที่จะถูกนำมาใช้เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานและระดับของกาแฟลูวักต่อไป
ปูตรีเชื่อด้วยว่า การวิเคราะห์องค์ประกอบดังกล่าวนี้นอกจากจะช่วยในการกำหนดมาตรฐานของกาแฟขี้ชะมดแล้ว ในอนาคตอาจนำมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟขี้ชะมดให้ได้คุณภาพที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้อีกด้วย ขอขอบคุณ ที่นี่, หมูอ้วน, มติชน |