สมาชิก kulasang.net เท่านั้นถึงจะสามารถเข้าเนื้อหาได้อย่างสมบูรณ์
คุณจำเป็นต้อง เข้าสู่ระบบ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? สมัครสมาชิก
x
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศให้วันที่ 8 กันยายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ(International Literacy Day) พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกทั่วโลก ร่วมจัดกิจกรรมและเฉลิมฉลองวันสำคัญดังกล่าว โดยในปีนี้มุ่งเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ที่จำเป็นระหว่างการรู้หนังสือและสันติภาพ
ในโอกาสนี้ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโก ได้ตอบสนองเจตนารมณ์ดังกล่าว โดยร่วมเฉลิมฉลองและจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสแห่งวันสำคัญนี้ทุกปี สำหรับวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ในปีพุทธศักราช 2556 นี้ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ได้จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองวันดังกล่าวขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2556 ณ หอประชุมประจักษ์ศิลปาคม ศาลากลางจังหวัดหนองคาย โดยจะทำการถ่ายทอดสดพิธีเปิดงานทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศ ไทย กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) ระหว่างเวลา 10.00-11.00 น. และเป็นประเพณีของทุกปี ที่จะมีการอ่านสารจากผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก (อิรินา โบโกวา) ประจำกรุงปารีส ที่มอบให้เนื่องในวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
“การรู้หนังสือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นตัวจักรสำคัญสำหรับการพัฒนามนุษย์ การรู้หนังสือเป็นการปูทางสู่การปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ การพัฒนาทักษะต่าง ๆ การแสดงออกถึงวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่ การไม่รู้หนังสือของประชากรโลกได้ลดลงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งต้องขอขอบคุณความพยายามร่วมกันระหว่างประเทศและการทำงานที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ในปัจจุบันประชากรโลกร้อยละ 84 สามารถอ่านออกและเขียนได้ เมื่อเปรียบเทียบกันกับปี 2533 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 76 โดยในช่วง 20 ปี ประชากรผู้ไม่รู้หนังสือได้ลดลงไปกว่า 100 ล้านคน แต่เท่านี้ยังคงไม่เพียงพอ เบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้ ยังคงมีความไม่เท่าเทียมกันอย่างรุนแรง สองในสามของประชากรผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือในโลก จำนวน 774 ล้านคน ยังคงเป็นสตรี ส่วนประชากรเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้ไปโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กหญิง นอกจากนี้ เด็กวัยเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 57 ล้านคน และระดับมัธยมศึกษาจำนวน 69 ล้านคน ไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียน สำหรับเด็กที่โชคดีได้เข้าโรงเรียนนั้น เมื่อออกจากโรงเรียนก็ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้กันทุกคน แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วในเชิงเศรษฐกิจ ก็ยังมีสัดส่วนของประชากรที่ขาดทักษะพื้นฐานด้านการอ่านและการเขียนสูงมาก สิ่งนี้คืออุปสรรคใหญ่หลวงต่อความสำเร็จของตัวบุคคล การพัฒนาสังคม และความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มประชากรหลากหลายเชื้อชาติ การเกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ และสังคมความรู้ยุคใหม่ ล้วนทำให้สถานการณ์ดังกล่าวแย่ลงไปอีก
ด้วยความสามารถในการอ่านเขียนทวีความสำคัญมากขึ้น การรู้หนังสือเป็นเงื่อนไขแรกสำหรับการสนทนา การสื่อสารและการเข้าร่วมในสังคมสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงกัน ประชากรวัยหนุ่มสาวจำเป็นต้องมีทักษะใหม่ ๆ เพื่อเป็นใบเบิกทางในการเข้าสู่ และประสบความสำเร็จในตลาดแรงงาน อันได้แก่ ความรู้ภาษาต่าง ๆ ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ การรู้หนังสือเป็นหัวใจสำคัญในการแสวงหาความรู้ทักษะต่าง ๆ ในการสื่อสารระหว่างบุคคล ทักษะความรู้และความสามารถที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม ทักษะดังกล่าวทั้งหมดล้วนเป็นพื้นฐานของสังคมสมัยใหม่ โดยในศตวรรษที่ 21 นี้ การรู้หนังสือเป็นรากฐานสู่สันติภาพและการพัฒนา ยิ่งกว่าสมัยใดในช่วงที่ผ่านมา การรู้หนังสือเป็นมากกว่าความจำเป็นเร่งด่วนทางการศึกษา กล่าวคือ เป็นการลงทุนที่สำคัญยิ่ง เพื่ออนาคตและเป็นก้าวแรกสู่การรู้หนังสือรูปแบบใหม่ ๆ ที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 เราปรารถนาจะเห็นเด็กทุกคนสามารถอ่านออกและใช้ทักษะดังกล่าวเพื่อปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ
เนื่องในโอกาสวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือในปีนี้ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลทั้งหลายทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุความฝันนี้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินครั้งใหม่ รวมทั้งนโยบายต่าง ๆ ที่ร่างร่วมกับประชาชนที่เกี่ยวข้อง รูปแบบการดำเนินงานใหม่ ๆ ที่แสดงถึงความเป็นนวัตกรรมยิ่งขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งความก้าวหน้าที่ได้ดำเนินการในหลายปีที่ผ่านมานี้ แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นไปได้ และยูเนสโกขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำทุกอย่างเพื่อให้สิ่งที่ตั้งใจไว้ปรากฏเป็นจริง” สำนักงาน กศน.
|