สมาชิก kulasang.net เท่านั้นถึงจะสามารถเข้าเนื้อหาได้อย่างสมบูรณ์
คุณจำเป็นต้อง เข้าสู่ระบบ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? สมัครสมาชิก
x
บ่อยครั้งทีเดียวที่เราเห็นคนอกหักหรือกำลังรู้สึกเศร้าเลือกฟังเพลงเศร้าฟังแล้ว ไอ้ที่ร้องไห้อยู่ก็พาลร้องหนักขึ้น แล้วจะโหมฟังกันทำไม?
คำตอบอยู่ในงานวิจัยของ Annemieke Van den Tol และ Jane Edwards แห่งมหาลัยลิเมอริก ประเทศไอร์แลนด์ซึ่ง "คริสเตียน จาร์เรตต์" นักเขียนประจำ Research Digest blog นำมารายงาน
การวิจัยนี้ได้ทำการสำรวจคน 65 คน ในช่วงอายุ 18-66ปี ทั้งชาวไอริช, อเมริกัน, เยอรมัน และสเปน ผ่านทางออนไลน์ โดยถามถึงการเลือกฟังเพลงของพวกเขาหลังผ่านประสบการณ์ที่เลวร้าย
แล้วก็พบคำตอบที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุผลที่พวกเขาเลือกฟังเพลงเศร้า รวมถึงสิ่งที่เพลงเศร้าได้ให้กับพวกเขา
โดยพวกเขาว่าที่ยังคงฟังเพลงเศร้าทั้งๆ ที่รู้สึกเศร้านั้น เพราะต้องการฟังสิ่งที่เข้ากับอารมณ์ในขณะนั้นให้มากที่สุด
"ฉันไม่ได้ต้องการฟังเพลงที่จะทำให้ฉันรู้สึกดีขึ้น แต่ฉันอยากอยู่กับอารมณ์เหล่านั้นสักพักจนกว่าจะพร้อมปล่อยอารมณ์เหล่านั้นให้ผ่านไปต่างหาก" ผู้ตอบแบบสอบถามอายุ 25ปี คนหนึ่งบอก
อีกเหตุผลคือเพลงเหล่านี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องเตือนความจำเพื่อหวนระลึกถึงอดีตให้รู้สึกเหมือนได้อยู่ใกล้กับคนที่คุณคิดถึงมากยิ่งขึ้น
"ฉันเลือกเพลงนี้เพราะว่าฉันรู้ว่าเขา(ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว) ก็ชอบเพลงนี้เหมือนกัน" หญิงอายุ 48 ปี กล่าว
นอกจากนี้แล้วยังมีคำตอบที่ว่าเลือกเพลงเพื่อความสุนทรีย์ ซึ่งในกรณีนี้พวกเขาไม่ได้เลือกเพลงเพื่อเยียวยาความทุกข์ของตัวเองหรือเพื่อนึกถึงอดีตแค่เพียงคิดว่าเพลงนั้นสวยงามและมีคุณภาพ
เหตุผลประเภทสุดท้ายที่ได้มา คืออยากฟังในสิ่งที่เพลงเศร้าสื่อสารเพราะหลายเพลงแม้จะจัดเป็นเพลงเศร้า หากก็ยังถ่ายทอดสารที่เต็มไปด้วยความหวัง
"สำหรับผมแล้วเพลง The Waterboys เป็นตัวเลือกสำหรับอารมณ์ความรู้สึกของผมและเนื้อเพลงก็ยังทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความหวังอีกด้วย" ชายหนุ่มวัย 31กล่าว
ส่วนสิ่งที่เพลงเหล่านี้ให้กับพวกเขาก็ใกล้เคียงกับเหตุผลที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
ยกตัวอย่างเช่น มีผู้ตอบแบบสอบถามคนหนึ่งเล่าถึงการประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจว่า"ฉันอยู่บ้านและรู้สึกแย่กับตัวเองมากแต่ฉันกลับร้องไห้ไม่ออก ฉันเลยตัดสินใจเปิดเพลงเศร้าสักเพลงเพื่อร้องให้ออกมาสักหน่อย หลังจากนั้นฉันก็รู้สึกเหมือนถูกปลดปล่อยและก้าวเดินต่อไปได้"ผู้ตอบแบบสอบถามหญิงวัย 24 กล่าว
หรือจะสาววัย 21 ที่บอกว่า "เพลงจะช่วยกระตุ้นให้ฉันรู้สึกถึงความเจ็บปวดนั้นและยังช่วยให้ฉันร้องไห้ออกมาซึ่งเป็นการร้องไห้ที่ดีกับตัวฉันเอง มันอาจจะไม่ทำให้ฉันรู้สึกดีขึ้นในช่วงเวลานั้นแต่ช่วยให้ฉันผ่านมันไปได้"
อีกประการหนึ่งที่ผู้วิจัยมองเห็นคือ เพลงเศร้าทำให้คนฟังรู้สึกว่าเขาไม่ได้เศร้าโศกอยู่อย่างโดดเดี่ยวเนื่องจากมีผู้คนอีกมากมายในโลกนี้ก็เศร้าไม่ต่างจากพวกเขา และนั่นย่อมทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น
ยังมีผู้เข้าร่วมวิจัยอีกหลายคนที่เห็นว่าเพลงเศร้าเป็นเพื่อน ทั้งยังเห็นอกเห็นใจและเข้าใจความเจ็บปวดทรมาน
"ฉันรู้สึกว่าดนตรีผูกมิตรกับฉัน" หญิงสาววัย 33 กล่าว
"หมายความว่า ถ้าคุณคิดว่าเพลงและเนื้อเพลงนั้นเป็นคนจริงๆ ด้วยเนื้อร้องอันเป็นมิตรเข้าอกเข้าใจสบายใจ และมั่นใจ นั่นล่ะเพลงจึงเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของคุณอย่างแน่นอน"
เพลงเศร้ายังทำหน้าที่เหมือนตัวดึงความสนใจอีกด้วย โดยมีผู้ให้เหตุผลว่าเพลงเศร้าทำให้พวกเขาหนีจากความเงียบได้และสร้างระยะห่างระหว่างตัวเองกับความรู้สึกในทางลบของตัวเองได้ด้วย
"มีประโยชน์ขนาดนี้ จะเลือกฟังเพลงเศร้า เวลาเศร้าคงไม่ผิดอะไร"
ขอขอบคุณ ที่นี่,จิ่มจุ่ม, มติชน |