จากกรณีมีการไวรัลเตือนภัยทางโซเชียลมีเดีย พร้อมแชร์ภาพเหรียญ 10 บาทปลอมที่กำลังระบาด กรณีดังกล่าว ประชาชาติฯออนไลน์ สอบถามไปยัง นายนาวิน บุญฤกษ์ นักวิชาการกษาปณ์ปฏิบัติการ กรมธนารักษ์ ระบุว่า ได้รับทราบข้อมูลที่มีการแชร์ทางโซเชียลมีเดียเช่นกัน แต่ยังไม่มีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักกษาปณ์ และยังไม่มีตัวอย่างของเหรียญที่มีการปลอมแปลง จึงไม่สามารถบอกได้ว่าเหรียญปลอมดังกล่าวใช้โลหะอะไรในการปลอมแปลง แต่พิจารณาจากภาพน่าจะเป็นการลักไก่โดยการนำแหวนอีแปะที่มีช่องว่างตรงกลางขนาดเดียวกับเหรียญ 50 สตางค์และนำเหรียญ 50 สตางค์ ใส่หรือยัดเข้าไปตรงกลางเพื่อให้ดูคล้ายเหรียญ 10 บาทซึ่งถ้าใช้ตอนกลางวันจะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน
นายนาวิน กล่าวต่อว่า เหรียญปลอมลักไก่แบบนี้ไม่สามารถนำไปใช้ตามตู้หยอดเหรีญต่างๆได้อยู่แล้ว เพราะตู้เหล่านี้จะมีตัวเซ็นเซอร์โลหะอยู่ด้วยหากโลหะต่างชนิดหรือมีน้ำหนักเหรียญไม่ถูกต้อง ตู้พวกนี้จะปฏิเสธเหรียญ
ภาพเหรียญ10บาทปลอมที่ถูกแชร์ในโซเชียล
นอกจากกรณีนี้แล้ว เคยมีการร้องเรียนเหรียญ 10 บาทปลอมที่เป็นการผลิตเหรียญขึ้นมาใหม่โดยการใช้โลหะที่มีค่าน้อยกว่าเหรียญจริง เช่น ใช้เหล็กในการปลอมแปลง ส่วนเหรียญ 10 บาทของจริงนั้นใช้คิวโปรนิกเกลและอลูมิเนียมบอนด์ในการผลิต บางคนจึงนำเหรียญไปหลอมใหม่เพื่อทำเครื่องประดับ ซึ่งการทำแบบนี้มีความผิดทางกฎหมาย ด้านสำนักกษาปณ์ได้แก้ปัญหาโดยเปลี่ยนโลหะในการทำเหรียญใหม่เพื่อให้เหรียญมีมูลค่าหน้าเหรียญเท่ากับมูลค่าจริงของเหรียญและเป็นการลดต้นทุนไปในตัวทั้งมีลวดลายที่ละเอียดออกแบบมาเพื่อป้องกันการปลอมแปลง
เหรียญ 10 บาทจริง
สำหรับการผลิตเหรียญออกมาแต่ละชนิดต้องมีการศึกษาว่ามีแบบหรือน้ำหนักของเหรียญไปเหมือนกับสกุลเงินอื่นหรือไม่เพราะอาจเกิดความเข้าใจผิดหรือมีการลักไก่นำไปใช้ ส่วนเหรียญที่กองกษาปณ์ใช้ผลิตนั้นจะถูกสั่งมาจากบริษัทที่ผลิตเหรียญจากต่างประเทศที่ผสมและหล่อมาเป็นเหรียญเปล่าและนำมาปั๊มลวดลายโดยกองกษาปณ์
ขั้นตอนการทำเหรียญ
ทั้งนี้ปัจจุบันสถิติการปลอมแปลงเหรียญมีจำนวนน้อยลง เพราะมีเทคโนโลยีในการผลิตสูงขึ้นสามารถป้องกันการปลอมแปลงได้ดีขึ้นและการสร้างลายที่ละเอียดได้มากขึ้นเช่นการใส่อักษรเบลบอกราคาในเหรียญ10 บาท เมื่อมีการใส่รายละเอียดเยอะก็ทำให้การปลอมแปลงเกิดต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้เมื่อมีการมีการปลอมแปลงเหรียญก็มีทำในเหรียญที่มีมูลค่ามากที่สุด แต่ส่วนมากมักจะเกิดแบบกรณีลักไก่อย่างนำเหรียญ 2 บาทรุ่นก่อนมาทาสีที่ขอบให้คล้ายเหรียญ 5 บาท ไม่ถึงกับทำขึ้นมาใหม่ เพราะจะมีต้นทุนสูงกว่า
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์