ดู: 1245|ตอบกลับ: 1

รัก (แท้) รักคืออะไร… สำรวจโลกของความรักที่ทำใจร้าวและใจเต้นรัว

[คัดลอกลิงก์]
เช็คอินสะสม: 3006 วัน
เช็คอินต่อเนื่อง: 2 วัน

ความคืบหน้าการอัพเกรด: 100%

สมาชิก kulasang.net เท่านั้นถึงจะสามารถเข้าเนื้อหาได้อย่างสมบูรณ์

คุณจำเป็นต้อง เข้าสู่ระบบ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? สมัครสมาชิก

x
หากคุณอยากดำดิ่งในรักที่น่าหลงใหลให้อ่านบทกวี เมื่อรักนั้นคลายความเร่าร้อนลงให้อ่านงานจิตวิทยา แต่ถ้าหากคุณเพิ่งอกหักมาและอยากหยุดพักรักสักระยะ ลองหันไปหางานปรัชญาดู นี่คือคำแนะนำสำหรับคนที่อยากเข้าใจความรักให้มากขึ้นโดยโจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน
“The sweetest joy, the wildest woe is love.” Philip James Bailey
รักคือสุขล้นและรักคือทุกข์แทบคลั่ง

หากจะให้เห็นภาพชัด นักจิตวิทยามักอธิบายว่าการมีความรักโรแมนติกก็เหมือนการใช้สารเสพติดที่ทำให้เรามึนเมา หมกมุ่น โหยหา และบางครั้งก็บิดเบือนความจริง เมื่อศึกษาสมองของคนมีความรักแบบหลงใหลจะพบว่า ความรู้สึกรักโรแมนติกได้เปลี่ยนกิจกรรมในสมองที่รวมไปถึงส่วนที่มีการปล่อยโดปามีน สารสื่อประสาทที่ทำให้มนุษย์รู้สึกมีความสุข เหมือนกับการใช้โคเคนหรือเฮโรอีนที่สามารถเพิ่มระดับโดปามีนในสมองเราได้อย่างไรอย่างนั้น ดังนั้น เมื่อคนเราอยู่ในห้วงแห่งความรัก จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะเคลิบเคลิ้ม เปี่ยมพลัง และบางครั้งก็พร้อมจะเสี่ยงทำอะไร (โง่ๆ) เพื่อความรัก แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง รักที่เคยเร่าร้อนดั่งไฟก็ถึงคราวมอดไหม้ลง เหมือนกับสมองที่เลิกใช้ยา เราจะรู้สึกห่อเหี่ยว เจ็บปวด และสิ้นหวัง
มาถึงตอนนี้บางคู่ที่เชื่อในมายาคติรักแท้ชั่วนิรันดร์ พอตื่นจากความมึนเมาในรัก ก็อาจเห็นจุดบกพร่องของอีกฝ่ายเป็นครั้งแรก และอาจจะสรุปไปว่าคู่ของเขาหรือเธอไม่ใช่รักแท้ เพราะแพสชั่นได้หมดลงไปแล้ว และในกรณีนี้ที่ใครคนหนึ่งยังคงมึนเมาในฤทธิ์แห่งรัก ก็ต้องทนแบกรับความเจ็บปวดแสนสาหัสจนรู้สึกราวกับหัวใจแหลกสลาย และเหมือนโลกทั้งใบได้พังทลายลงต่อหน้าต่อตา บางคู่บอกลากันตรงนี้ เพราะไม่อาจรู้สึกถึงความน่าหลงใหลของอีกฝ่ายเหมือนที่ผ่านมาก แต่ถ้าบางคู่ลองให้โอกาสรักแบบคู่ชีวิตที่อาจไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเท่ากับรักแบบโรแมนติกได้เติบโต บางทีทั้งคู่อาจได้พบกับรักแท้
นักปรัชญาน่าจะรู้พิษสงของความรักโรแมนติกมานานกว่านักจิตวิทยา เพราะนักปรัชญาส่วนมากเชื่อว่ารักแบบหลงใหลเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ขาดเหตุผลและไร้ตรรกะ และแม้เพลโตจะพาเราไปสำรวจแง่มุมความรักในงานเขียน "ซิมโปเซียม"  (Symposium) ที่ว่าไว้ว่า รักคือความปรารถนาเพื่อตามหาส่วนที่หายไปในชีวิต จากที่ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยมีสี่แขน สี่ขา และสองหน้า จนวันหนึ่งพวกเขาเถียงกับพระเจ้า และซูสก็ตัดสินใจตัดมนุษย์ออกเป็นสองท่อน ตั้งแต่นั้นมาทุกคนก็ต้องตามหาอีกครึ่งที่หายไป ซึ่งหมายถึง “คู่ชีวิต” เพื่อเติมเต็มความรู้สึกสมบูรณ์อีกครั้ง แต่นี่ก็อาจไม่ใช่สารสำคัญเท่ากับตอนที่โสกราตีสในซิมโปเซียมบอกไว้ในภายหลังว่า รักอันลุ่มหลงนั้นก็ไม่ต่างจากโรคร้ายที่มีเป้าหมายเพียงเพื่อการสืบพันธุ์ แต่การจะมีรักที่สูงส่งขึ้นได้นั้น คือการไม่ได้รักเพียงความงามของร่างกายใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องมีความสามารถที่จะรักความงามโดยทั่วไปด้วย ส่วนปรัชญาในลัทธิสโตอิก (Stoicism) ก็ปฏิเสธความรักโรแมนติกของคู่รักเช่นกัน เพราะแหล่งความสุขที่มาจากผู้อื่นไม่สามารถเป็นความสุขที่แท้จริงได้
“Love is to love someone for who they are, who they were, and who they will be.” Chris Moore
รักคือการรักในสิ่งที่เขาเป็น เคยเป็น และกำลังจะเป็น

มีคำพูดติดตลกของแดเนียล สลอสส์ (Daniel Sloss) สแตนด์อัพ คอมเมเดี้ยนชาวสก็อต ที่กล่าวไว้ในโชว์ของเขาว่า “คุณต้องรักตัวเองให้เป็นก่อนที่คุณจะยอมให้ใครมารักคุณ การโสดและอยู่คนเดียวไม่ผิด มันไม่ได้ผิดอะไรหากคุณจะอยากใช้เวลาค้นหาตัวเองก่อนที่จะออกไปสู่โลกของการเดต เพราะคุณจะนำเสนอตัวเองได้ยังไง ถ้าคุณยังไม่รู้ว่าคุณคือใคร มันไม่ได้ผิดที่จะอยากเห็นแก่ตัวสักพัก เพราะคุณมีเวลาที่เหลือทั้งชีวิตที่จะใช้ชีวิตอย่างไม่เห็นแก่ตัว ถ้าคุณรักตัวเองแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ นั่นแปลว่า ถ้ามีใครเข้ามารักคุณเพียง 30 เปอร์เซ็นต์คุณก็จะคิดว่า ‘ว้าว นั่นเยอะจัง’ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ แต่หากคุณรักตัวเองเต็มร้อย คนที่เข้ามารักคุณก็ต้องพยายามสุด ๆ เพื่อที่จะทำให้คุณรู้สึกพิเศษได้ และนั่นเป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ” คำพูดของแดเนียลน่าจะกุมใจคนโสดได้อยู่หมัด เพราะเขาได้นำเสนอคอนเซ็ปต์ของความรักที่ใจเย็นลง และหันกลับมาพิจารณาคุณค่าของตัวเองมากขึ้นก่อนที่จะกระโจนเข้าสู่เกมของความรัก
และเหมือนกับซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) นักปรัชญาสตรีชาวฝรั่งเศส ที่นำเสนอแง่มุมของความรักไว้เช่นกันว่า การพึ่งพาให้คนอื่นมาตัดสินการมีตัวตนของเราอย่างการมีความรักแบบหลงใหล จะนำไปสู่ความเบื่อหน่ายและการครอบงำในที่สุด เพื่อจะหลีกเลี่ยงหลุมพรางนี้ เราควรมีรักเหมือนกับการมีเพื่อนที่ดี เป็นคู่รักที่ช่วยเหลือเกื้อกูลในการค้นพบตัวตนของกันและกัน รวมไปถึงการไปให้ได้มากกว่าตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้ชีวิตของคู่รักอิ่มเอมและเต็มสมบูรณ์ไปด้วยกัน
“You come to love not by finding the perfect person, but by seeing an imperfect person perfectly.” Sam Keen
การจะรักไม่ใช่การมองหาคนที่เพอร์เฟ็กต์ แต่คือการมองเห็นคนที่ไม่เพอร์เฟ็กต์ซักคนเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ

แน่นอนว่าการพูดเรื่องความรักให้สวยงามเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าการรักษาความสัมพันธ์ให้คงอยู่ได้ยาวนานมาก คำถามจึงอยู่ที่ว่า เราจะมีรักที่ดีขึ้นได้อย่างไร จอห์น ก็อตต์แมน (John Gottman) นักจิตวิทยาผู้ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของคู่แต่งงานมาอย่างยาวนานสามารถตอบคำถามข้อนี้ได้ เขาและทีมงานทำนายได้ว่าคู่แต่งงานคู่ไหนจะหย่าร้างกันได้อย่างแม่นยำถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการพิจารณาดูจากหลายปัจจัย แต่ข้อที่มีอิทธิพลที่สุดคือการดูว่าคู่สามีภรรยามีอิทธิพลต่อกันและกันมากแค่ไหน โดยเฉพาะในเรื่องขีดจำกัดของความอดทนต่อเรื่องทางลบที่มีต่ออีกฝ่าย เช่น สามีทนต่อความขี้บ่นของภรรยาได้แค่ไหน ภรรยาทนต่อการทำตัวน่ารำคาญของสามีได้แค่ไหน ฯลฯ โดยคนทั่วไปมักคิดว่าคู่แต่งงานที่มีความอดทนต่อกันมากจะสามารถใช้ชีวิตคู่ต่อไปได้อย่างยาวนาน แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม
เพราะเป็นคู่แต่งงานที่มีความอดทนต่อกันต่ำต่างหากที่เป็นคู่แต่งงานที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตคู่มากที่สุด คู่รักประเภทนี้จะไม่ยอมให้ปัญหาเล็ดลอดสายตา พวกเขาจะปล่อยให้อีกฝ่ายได้บ่น พยายามปรับปรุงตัว และรักษาความสัมพันธ์ของกันและกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ทนและปล่อยให้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ คู่แต่งงานในลักษณะนี้จึงมีโอกาสมากกว่าที่จะมีความสัมพันธ์ต่อไปได้อย่างยาวนาน
“Isn't everything we do in life a way to be loved a little more?”
มาถึงตรงนี้ รักน่าจะให้ประสบการณ์เหมือนกับการนั่งรถไฟเหาะ ที่ต้องอยู่กับความรู้สึกขึ้น ๆ ลง ๆ บางครั้งเราก็รู้สึกเปี่ยมสุขราวกับลอยได้ อีกพักรักอาจทำให้เราหดหู่เหมือนดิ่งลงเหว บางคนได้ค้นพบตัวตนที่ดีขึ้นในความรัก ในขณะที่บางคนหัวใจสลายและต้องกลับมารักษาใจเป็นเวลานาน และบางคนก็อาจจะเคยแอบหัวเราะเยาะในใจกับคู่รักหวานแหววที่ยังมองไม่เห็นจุดบกพร่องของกันและกัน แต่ก็คงเหมือนกับที่ซีลีนในภาพยนตร์โรแมนติกดราม่า Before Sunrise (1995) ที่ได้พูดกับเจสซี ระหว่างที่เธอกำลังจะตกหลุมรักว่า “การได้รักใครสักคนและเป็นที่รัก มันมีความหมายกับฉันมาก เราจะล้อเลียนเรื่องรักก็ได้นะ แต่ทุกสิ่งที่เราทำในชีวิต ก็เพื่อให้ได้รับความรักมากขึ้นไม่ใช่เหรอ?” (Loving someone, and being loved means so much to me. We always make fun of it and stuff. But isn't everything we do in life a way to be loved a little more?)

ที่มา :
บทความ “Valentine's Day Celebrants Spend More in 2020” โดย Kimberly Amadeo จาก thebalance.com
วิดีโอ “The brain in love” โดย Helen Fisher จาก ted.com
วิดีโอ “The mathematics of love” โดย Hannah Fry จาก ted.com
วิดีโอ “Why do we love? A philosophical inquiry” โดย Skye C. Cleary จาก TED-Ed
หนังสือ “วิทยาศาสตร์แห่งความสุข (The Happiness Hypothesis)” หน้า 188-203 โดย Jonathan Haidt

ขอบคุณ  วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ : เรื่อง


Dew
เช็คอินสะสม: 4681 วัน
เช็คอินต่อเนื่อง: 22 วัน

ความคืบหน้าการอัพเกรด: 47%

โพสต์ 2020-6-28 21:06:16 | ดูโพสต์ทั้งหมด
Thank you very much.

ตอบกระทู้

สำหรับคนที่ขี้เกียจพิมพ์
คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนที่จะตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

รายละเอียดเครดิต

TOP