ดู: 932|ตอบกลับ: 4

ขาลุยเชิญได้ที่ โมโกจู

[คัดลอกลิงก์]
เช็คอินสะสม: 135 วัน
เช็คอินต่อเนื่อง: 0 วัน

ความคืบหน้าการอัพเกรด: 100%

สมาชิก kulasang.net เท่านั้นถึงจะสามารถเข้าเนื้อหาได้อย่างสมบูรณ์

คุณจำเป็นต้อง เข้าสู่ระบบ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? สมัครสมาชิก

x


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ Palmography สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม

          เราเชื่อว่าสำหรับนักเดินทางแล้ว ถ้าเอ่ยถึงยอดเขาในดวงใจต้องมีชื่อของ "โมโกจู" อยู่ในลิตส์ลำดับต้น ๆ อย่างแน่นอน เพราะถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากกว่าจะเดินทางขึ้นไปพิชิตบนยอดดอยได้ เนื่องจากต้องใช่เวลาเดินเท้าอยู่หลายวัน แต่ความงดงามที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้น ก็เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักเดินทางผู้ชื่นชอบการผจญภัยและหลงใหลธรรมชาติ หาโอกาสไปสัมผัสกับที่นี่สักครั้งในชีวิต เหมือนกับบันทึกการเดินทางของ คุณ Palmographyที่ได้ไปเยือนโมโกจู พร้อมกับถ่ายทอดประสบการณ์ดี ๆ ผ่านตัวหนังสือและภาพถ่ายสวย ๆ ให้เราได้ชมกันค่ะ


   


          สวัสดีเพื่อน ๆ ห้องบลูฯ ทุกคนครับ หลังจากที่ผมแอบซุ้มดูรีวิวของเพื่อน ๆ อยู่นานหลายปี ผมก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผมน่าจะลองแบ่งปันประสบการณ์การเดินทางของตัวเองให้เพื่อน ๆ บ้าง ผมคิดอยู่นานว่าเรื่องแรก (หวังว่าจะไม่ใช่เรื่องเดียวนะ 55) จะเล่าเรื่องไหน และจะเล่าอย่างไรดีถึงจะน่าสนใจ และไม่ซ้ำกับเพื่อน ๆ คนอื่น (เพราะคงสู้เขาไม่ได้) สุดท้ายในครั้งแรกนี้ผมตัดสินเลือกสถานที่ที่ผมเองก็เคยหาข้อมูลใน Pantip มาก่อน แล้วก็พบว่าถึงจะมีคนพูดถึงเยอะ แต่คน Review กลับแทบจะไม่มีซะงั้น และที่ที่ผมพูดถึง ก็คือ "หินเรือใบแห่งยอดโมโกจู อุทยานแห่งชาติแม่วงก์" นั่นเองครับ

          ส่วนลักษณะการรีวิวนั้น จริง ๆ จะเรียกว่ารีวิวก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก น่าจะเรียกว่าบันทึกความทรงจำของผมเสียมากกว่า เพราะผมตั้งใจจะเขียนบรรยายถึงสิ่งที่ผมเห็น ผมได้ยิน ได้สัมผัส และได้รู้สึกผ่านมุมมองของผม แล้วก็จะมีภาพประกอบในส่วนที่ผมสนใจ เหมือนมีกล้อง Gopro ติดหัวผมแล้วพาเพื่อน ๆ ไปเห็นในมุมมองที่ผมได้เห็นครับ ฉะนั้น ถ้าใครอยากได้ข้อมูลอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน มีสาระนอกเหนือจากที่ผมเวิ่นเว้อไป ยังไงก็ถามมาได้เลยครับ :]

          บันทึกนักเดินทาง : Mokochu A Tu Corazon (โมโกจู...สู่กลางใจเธอ)

          Prologue : เมื่อพูดถึง "โมโกจู" แน่นอนว่าหลายคนจะต้องนึกถึง "หินเรือใบ" หินก้อนใหญ่ที่อยู่บนยอดโมโกจู เหมือนเวลาเราพูดถึงฝรั่งเศสแล้วก็จะนึกถึง "หอไอเฟล" หรือพูดถึงกัมพูชาแล้วก็จะนึกถึง "นครวัด"  ตัวผมเองในตอนแรกเลยที่ได้เห็นรูปหินเรือใบจาก Google หรือฟังคำพรรณนาของนักเดินทางคนอื่น ๆ ถึงความสวยงามของมัน ผมก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมากไปกว่า "มันก็แค่หินก้อนหนึ่งที่ตั้งอยู่บนยอดเขาป่ะวะ" ผมไม่ได้มองว่ามันสวยพิเศษอะไรเลยจริง ๆ นะ แล้วก็คิดไปว่าพวกที่เคยไปมาก่อนนี้โม้กันเกินจริงไปรึเปล่า จนกระทั้งผมได้ "ดั้นด้น" (ต้องใช้คำนี้จริง ๆ) มาจนถึงบนนี้ ทันทีที่ 2 เท้า ของผมเหยียบยืนอยู่บนหินเรือใบได้อย่างมั่นคง และเมื่อสายตาของผมได้บรรจบกับเส้นขอบที่อยู่ไกลริบ ๆ ในชั่วขณะที่ลมภูเขาพัดผ่านร่างของผม...คำตอบทุกอย่างมันชัดเจนไปหมด จนไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมหรือไม่ต้องพูดอะไรด้วยซ้ำ

          มีคนเคยบอกว่า "เราจะเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา"

          ความงามของที่นี่ที่ผมสัมผัสได้ ผมไม่ได้รับรู้ด้วยตาของผมเท่านั้น แต่ผมรับรู้มันผ่านความเย็นชื้นของไอน้ำบนผิวหนัง กลิ่นของป่า เสียงของลมและนก และที่สำคัญที่สุด คือ "เรื่องราว" ตลอดเส้นทางให้ผมมาถึงตรงนี้ ซึ่งผมจะเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังต่อจากนี้ มันทำให้ที่นี่เป็นที่ที่แสนพิเศษสำหรับตัวผม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายผ่านตัวอักษรยังไงหมด คงได้แต่ท้าชวนให้เพื่อน ๆ ถ้ามีโอกาสก็อยากให้มาสัมผัสที่นี่กันดูสักครั้งครับ

          อ๋อ...ลืมบอกไป คนที่พูดประโยคข้างบนจริง ๆ แล้วไม่ใช่คนหรอกครับ เขาเป็น "สุนัขป่า" แล้วเขาก็ไม่ได้บอกผมหรอกครับ เขาบอก "เจ้าชายน้อย" :]



          โมโกจู เป็นภาษากะเหรี่ยงครับ แปลว่า คล้าย ๆ ว่าฝนจะตก (เรียงร้อยคำใหม่จากคำตอบที่ได้จาก "เดช" 1 ใน 5 ลูกหาบเชื้อสายเย้า ที่บอกว่าแปลได้ว่า "ฝนจะตกไม่ตก" ยอดเขาโมโกจู เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อยู่ในฝั่งจังหวัดกำแพงเพชร( ตัวอุทยานฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดตาก กำแพงเพชร และนครสวรรค์) และสูงเป็นอันดับที่ 14 ของประเทศไทย ด้วยระดับความสูง 1964 เมตร จากระดับน้ำทะเล การที่จะไปให้ถึงยอดโมโกจูนั้นจะต้องเดินเท้าเป็นเวลา 3 วัน รวมไป-กลับแล้ว โดยทั่วไปจะใช้เวลา 5 วัน 4 คืน  อ๋อ...เกือบลืมไป สาเหตุที่ชาวกะเหรี่ยงตั้งชื่อเขานี้ว่า โมโกจู ก็เพราะว่ายอดเขาแห่งนี้มักจะมีเมฆหนาปกคลุมทำให้ดูคล้าย ๆ ว่าฝนจะตกอยู่บ่อยครั้ง แต่ในบางครั้งถ้าโชคดีฟ้าเปิดก็จะสามารถมองเห็นยอดเขาโมโกจูตั้งสูงตระหง่านขึ้นมาจากทะเลเมฆได้ครับ



          ตี 04.05 น. คือ เวลาที่ผมเห็นลางบนนาฬิกาติดพนังในที่ทำการ อช.แม่วงก์ ตอนที่ผมเดินงง ๆ ลงจากรถตู้  ตอนนี้อากาศหนาวมาก ผมออกจะมึน ๆ เล็กน้อย เพราะพึ่งตื่นหลังจากที่พึ่งมาถึงอุทยานฯ และเดินเซ ๆ ลงมาจากรถตู้ที่นั่งมาจากกรุงเทพฯ ผมว่าผมคงพูดข้ามอะไรไปหลายอย่างแน่ ๆ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเริ่มเล่าจากตรงไหนดี บางทีอาจจะต้องเล่าย้อนกลับไปไกลมาก ๆ เลยทีเดียว จุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมดน่าจะเริ่มขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน ตอนนั้นผมยังเป็นนิสิตปี 3 ครับ ชื่อ "โมโกจู" นั้นผมได้ยินครั้งแรกจากเรื่องเล่าในหมู่เพื่อน ๆ ชาวค่ายอาสาที่กำลังพูดคุยกันถึงสถานที่ในฝันที่อยากจะไปเห็นด้วยตาสักครั้งในชีวิต ผมเชื่อว่ามาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะยังคงไม่คุ้นชื่อ โมโกจู เพราะมันอาจจะโหดมากเกินไปสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป จึงไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก แต่สำหรับ นักเดินทางสายผจญภัย, นักเดินป่า, นักอนุรักษ์ หรือเด็กค่ายอาสาพัฒนาละก็ ผมเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้คงอยู่ในลิตส์ของหลาย ๆ คนแน่นอน

          จนเวลาผ่านไปจนผมจบออกมาทำงาน มาจนถึงเมื่อ 3 เดือนก่อน (ก่อนวันเดินทาง คือ 27 ธันวาคม 2556) ช่วงนั้นข่าวเรื่องการเดินรณรงค์เพื่อต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ของ อ.ศศิน เฉลิมลาภ กำลังเป็นประเด็น  เมื่อผมลองหาข้อมูลเรื่องนี้ไปเรื่อย ๆ ก็พบว่า เฮ้ย !! ที่ที่เขาจะสร้างเขื่อน คือ บริเวณอุทยานแห่งชาติแม่วงก์นี่หว่า ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเกิดมีการสร้างเขื่อนขึ้นมา หินเรือใบแห่งยอดโมโกจูที่ผมเคยฝันว่าจะมา คงจะเหลือเพียงแค่ตำนานแน่ ๆ ณ ตอนนั้นผมก็เลยคิดว่าคงจะถึงเวลาแล้วที่ผมจะต้องไปสัมผัสที่แห่งนี้เสียที ก่อนที่จะไม่มีโอกาส...ว่าแล้วก็รีบหาข้อมูลเพื่อจะมาที่นี่โดยทันที (ตอนนั้นอารมณ์แบบ The Secret Life of Walter Mitty มากครับ กรุณาเปิดเพลง Step Out เพื่อเพิ่มอรรถรสในการมโนครับ)

          แม้ว่าโดยปกติผมชอบแบกเป้ใบโปรดไปไหนมาไหนคนเดียว แต่เนื่องจากว่าการจะมาที่นี่ค่อนข้างจะยุ่งยากและต้องเตรียมตัวเยอะ ทั้งเรื่องสัมภาระส่วนกลางและส่วนตัว รวมถึงเรื่องเสบียง และยังต้องให้พี่เจ้าที่ช่วยนำทางอีก ผมจึงเลือกจะติดสอยห้อยตามมากับคณะของ "แคมป์ลูกหมูสะพายเป้" ถ้าถามว่าผมรู้จัก "แคมป์ลูกหมูสะพายเป้" ได้ยังไง ก็ง่าย ๆ ครับ คือ ผม search เจอใน Google ครับ เมื่อ 6 ชั่วโมงก่อนหรือราว ๆ 4 ทุ่มของวันที่ 27 ธันวาคม 2557 ผมมารวมตัวกับสมาชิกที่เหลือที่หน้าร้าน KITCAMP เพื่อที่จะมาขึ้นรถตู้ จากนั้น 6 ชั่วโมง ต่อมาผมก็ได้มาถึงที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ครับ อ๋อ...เสริมอีกนิด สำหรับคนที่เป็นแฟนคลับ พี่เอ๋ นิ้วกลม กับ พี่ชิงชิง หรือเคยอ่านหนังสือเล่มล่าสุดของพี่ทั้ง 2 คือ "วิชา ภูผา ชีวิต" กับ "เดินไปหาความสุข" จะบอกว่า Navi ของเราเป็นคนเดียวกันครับ ก็คือ พี่เอก แห่ง "แคมป์ลูกหมูสะพายเป้" นั่นเอง



          ตอนนี้เช้าเกินไปที่จะเริ่มออกเดินทาง เราต้องรอแจ้งเรื่องกับทางอุทยานฯ ที่จะเปิดตอน 7 โมง เราต้องรอลูกหาบมาช่วยแบกสัมภาระ เราต้องกินข้าวเช้ากันเสียก่อน และตอนนี้ยังตี 4 กว่า ๆ อยู่ สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ คือ หาที่สำหรับนอนรอเวลา ตามแผนเดิมที่ในกลุ่มได้คุยกัน ก็คือ เข้าไปนอนในห้องประชุมของอุทยานฯ แต่เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นนอนอยู่ก่อนแล้ว เราก็ไม่อยากไปเผลอทำให้คนที่นอนอยู่ก่อนตกใจตื่น พี่เอกเลยบอกให้พวกเราไปนอนกันตรงร้านกาแฟด้านนอก แม้ว่ามันจะเป็นโถงเปิดที่ไม่กันลม แต่อย่างน้อยตื่นมาก็ไม่เสี่ยงโดนคนเหยียบโดยไม่ตั้งใจในตอนเช้า...สุดท้ายแล้วผมได้จุดซุกตัวรอเวลาเป็นซอกแคบ ๆ ใกล้ ๆ ทีวีติดกับร้านกาแฟตามรูปครับ



          ราว ๆ 7 โมงครึ่ง ที่ผมลืมตาขึ้นมา คงเพราะด้วยอุณหภูมิ 7 องศา กับเสียงนักท่องเที่ยวที่ตื่นมากินกาแฟตอนเช้า แม้จะยังงัวเงียอยู่แต่ก็รู้ว่าควรจะรีบลุกโดยเร็ว เพราะโต๊ะสำหรับนั่งกินกาแฟพวกเราได้จับจองเป็นที่นอนเสียหมด หลังจากเก็บถุงนอนเสร็จเรียบร้อย ผมก็เริ่มต้นสิ่งที่ผมชอบทำเสมอในทุก ๆ การเดินทาง นั่นคือการเก็บภาพและเรื่องราวด้วย 600D ลูกชายที่เก็บเงินอยู่หลายเดือนกว่าจะได้มา มันเป็นความสุขเล็ก ๆ ของผมเสมอที่ได้ดูภาพเก่า ๆ ได้หลับตาแล้วจินตนาการถึงเรื่องราวที่อยู่ในภาพแต่ละภาพ คลิปแต่ละคลิป แล้วก็แอบรู้สึกเสียดายในบ้างครั้งที่ผมจำรายละเอียดได้ไม่ครบถ้วนในบางเหตุการณ์ และการที่ผมมีกล้องเป็นของตัวเองช้าเกินไป

          ส่วนรูปนี้ คือ บ้านทาร์ซานที่อยู่ใกล้ ๆ กับอาคารอุทยานฯ ครับ



          อันนี้เป็นป้ายทางเข้าด้านหน้าครับ สำหรับผู้ใช้ True move-H นะครับ ที่นี่เหมือนจะไม่มีสัญญาณนะครับ เท่าที่ทราบ คือ มีแต่ AIS จำได้แม่นเพราะตอนแรกผมกะถ่ายป้ายอวดลง FB ปรากฏว่าแป่ว ตลอดทั้งทริปไม่ได้ถ่ายทอดสดเลย T_T แต่ก็ดีครับ เพราะมันทำให้ผมได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น และได้เปิดรับสิ่งที่อยู่รอบตัวได้อย่างแท้จริง โดยไม่มีข่าวสารเครียดมาคอยรบกวน



          หลังจากเดินถ่ายรูปไปหลายรูปก็เริ่มคิดขึ้นได้ว่า หลังจากเดินเข้าป่าแล้วจะไม่มีที่ชาร์ตแบตฯ กล้องอีก (คู่หูของผมตอนนั้น ก็คือ Canon 600D+10-22, Kit18-55, Battery 2 ก่อน (ไม่มี Grip) และขาตั้งกล้องครับ) ผมจึงเก็บกล้องเพื่อประหยัดแบตฯ แล้วกลับไปยังที่ทำการอุทยานฯ เพื่อสมทบกับคนอื่น ๆ ตอนนี้ทุกคนตื่นกันหมดแล้ว พี่เอก Navi ของเราเริ่มอธิบายกฎและข้อตกลงในการเดินทาง หลัก ๆ คือเนื่องจากเราเดินทางไกล จึงจำต้องลดน้ำหนักของส่วนตัวให้น้อยและเบาที่สุด แม้ว่าเราจะจ้างลูกหาบก็ตาม เพราะหลัก ๆ พี่ลูกหาบต้องแบกของส่วนกลาง คือ เต็นท์และอาหาร ณ ตอนนี้เองที่ผมได้รู้ว่าจะไม่ได้ใช้เต็นท์ที่เตรียมมาเอง และจะได้ tent mate อีก 2 คน โดยนอนรวมกันในเต็นท์ใหญ่ที่พี่เอกเตรียมไว้ให้ เพื่อลดน้ำหนักของที่จะต้องแบกขึ้นไป ซึ่งแน่นอนว่าผมและ tent mate อีก 2 คน เราไม่รู้จักกันมาก่อนครับ จะว่าไปสมาชิกแต่ละคนที่มานี่มาจากหลายที่มาก และส่วนใหญ่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แล้วเดี๋ยวผมจะพูดถึงในโอกาสถัดไปครับ



          ลานด้านหน้าที่ทำการอุทยานฯ ขวามือคืออาคารหอประชุม ส่วนหลังคาเขียว ๆ นั่นคือร้านกาแฟที่ผมไปขอซุกตัวนอนชั่วคราวเมื่อคืนครับ



          หลังจากแยกของที่จะแบกขึ้นไปได้สักพัก พี่ ๆ ลูกหาบก็มาถึง ก่อนอื่นเราจะแยกของที่จะไม่เอาขึ้นไป (เช่น เต็นท์ที่ผมเตรียมมาเอง) ของที่จะให้พี่ลูกหาบช่วยแบกและของที่จะแบกไปกันเอง พอแยกเสร็จพี่ ๆ ลูกหาบก็จะเอาของมาชั่งน้ำหนักและแบ่งอีกทีให้ได้น้ำหนักเท่าที่จะสามารถแบกไหว



          สิ่งที่หน้าตาคล้ายตะกร้าสานนี้เรียกว่า "ก๋วย" เป็นอุปกรณ์ที่ลูกหาบใช้ในการขนสัมภาระ ลูกหาบกลุ่มมีทั้งสิ้น 5 คน แต่ละคนจะขนสัมภาระได้คนละ 20 กิโลกรัม อาจจะฟังดูน้อยสำหรับบางคน แต่ถ้าใครได้มาเห็นความไกลและความชันของเส้นทางแล้วจะรู้ว่า 20 กิโลกรัม เนี่ยพี่จะ "ถึก" ไปไหน แบกเยอะแล้วยังจะเดินเร็วกว่าพวกผมอีก = ="



          แค่เห็นก็หนักแทนแล้วครับ = ="



          ผมได้เล่าคร่าว ๆ ไปแล้วว่าระยะเวลาในการเดินทาง คือ 5 วัน 4 คืน ซึ่งถ้าให้พูดโดยละเอียด โดยดูจากแผนที่จากที่ทำการอุทยานฯ เราต้องเดินเท้าเป็นระยะทาง 17 กิโลเมตร

          วันแรก : เริ่มเดินจากที่ทำการอุทยานฯ ไปยังแคมป์แม่กระสา ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ทางช่วงนี้ยังไม่ค่อยชันมากครับ ตลอดเส้นทางส่วนใหญ่จะเป็นป่าไผ่ ต้องข้ามห้วยเล็ก ๆ อยู่หลายจุด (ผมนับได้ 8 ห้วยนะ) ทางจะลำบากในช่วงแรกตรง "เนินขี้แตก" ที่เป็นเนินชัน ต่อเนื่อง 2 ลูกติดกัน ซึ่งถ้าผ่านไปได้ก็เดินสบายแล้วครับ

          วันที่ 2 เดินระยะสั้น จากแคมป์แม่กระสาไปยังแคมป์แม่เรวา ระยะทางราว ๆ 4-5 กิโลเมตร เส้นทางวันนี้จะสบาย ๆ ขำ ๆ ครับ เราจะเดินลุยดงไผ่ ที่ใช้คำว่าลุยเพราะ trail เริ่มจะไม่ชัดแล้วครับ ไม่ได้เห็นเป็นทางเดินแบบวันแรก และป่าก็จะทึบมากขึ้น หลังจากตั้งแคมป์แล้วเราจะยังพอมีเวลาไปดูน้ำตกแม่เรวา (น้ำตกรีวา) ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีก 4-5 กิโลเมตรครับ สำหรับคนที่สงสัยว่าทำไมวันนี้เดินน้อยจัง...นั้นก็เพราะว่าต้องเก็บแรงไว้สำหรับวันถัดไปที่จะโหดมากครับ

          วันที่ 3 เป็นช่วงที่โหดและยากที่สุด คือ การมุ่งสู่แคมป์ขอนไม้ ที่บอกว่ายากเพราะทางเรียกว่าชันมาก แบบที่ เดช (พี่ลูกหาบ) เรียกว่า "เนินชันโง่ ๆ" เพราะจะเป็นเนินดี ๆ ก็ไม่ใช่ จะเป็นหน้าผาก็ไม่ใช่ เป็นเนินที่ชันแบบโง่ ๆ ให้ปีนขึ้นไป ในส่วนของแคมป์สุดท้ายนั้นจริง ๆ จะมีจุดกางเต็นท์ด้วยกัน 3 จุด คือ จุดคลอง 2 (ลำห้วยที่ 2) หรือแคมป์ตีนดอย แคมป์ขอนไม้ที่อยู่ช่วงกลางของเนินเขา และแคมป์ใกล้ยอด ซึ่งแต่ละจุดใช้เวลาราว 15-30 นาที ในการไปถึงกัน ซึ่งกลุ่มพวกเราได้ตกลงกับกลุ่มอื่น ๆ ว่าจะพักที่จุดขอนไม้ครับ



          ก่อนออกเดินทางต้องเติมพลังกันก่อน มื้อแรกของเราในทริปนี้ คือ กระเพราหมูไข่ดาวราดข้าว เมนูสุดสิ้นคิดและยอดนิยมของคนไทยครับ อร่อยมาก ๆ ฝีมือแม่ครัวที่นี่เอง



          เมื่ออาทิตย์เริ่มขึ้นสูง เมื่อทุกคนพร้อม เราก็เริ่มออกเดินทางกัน จากภาพนะครับสัมภาระส่วนที่เราต้องแบกขึ้นไปเอง คือ พวกเสื้อผ้า เครื่องนอน เครื่องใช้ส่วนตัว และน้ำติดตัวคนละ 2 ขวดเล็ก (ถ้าแบกไหวจะเอาไปมากกว่านี้ก็ได้ครับ) และอย่างในกรณีของผมก็จะมีกล้องถ่ายรูปด้วยครับ



          ในการเดินทางวันแรกระยะ 17 กิโลเมตร ในช่วงแรกจะต้องเดินผ่านที่เรียกว่า "เนินขี้แตก" เพราะมันเป็นเนินชันต่อเนื่องที่ค่อนข้างชันมาก ประกอบกับไม่มีร่มเงาไม้ใหญ่ทำให้ลำบากต่อการเดินทางมาก เนินขี้แตกจะเป็นเนิน 2 ลูก ติดต่อกันยาวราว 2-3 กิโลเมตร ต่อจากนั้นจะเริ่มเดินสบายขึ้น เป็นส่วนป่าไผ่ ซึ่งตรงส่วนนี้เองที่เป็นที่อยู่ของเสือ และเจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้ผ่านในช่วงเช้ามืดและหัวค่ำ เพราะเป็นช่วงเวลาออกล่าของเสือ



          ตามภาพเลยครับ "เนินขี้แตก" ส่วนแรก เป็นทางเดินลาดขึ้นไปเรื่อย ๆ



          ผ่านไปอีกครึ่งชั่วโมง ก็ยังคงเดินขึ้นไปเรื่อย ๆ = ="



          ผ่านเนินขี้แตกมาได้ก็จะเจอทางราบ ทางเดินช่วงนี้อาจจะดูเรียบ ๆ แต่ผมกลับชอบนะ เพราะพอพ้นป่าไผ่มาก็จะเจอต้นอ้อ (ต้นที่ใช้ทำไม้กวาด) สูงกว่า 3 เมตร เป็นแนวยาวตลอดเส้นทางอยู่พักหนึ่ง มันให้อารมณ์เหมือนเราถูกย่อตัวให้เล็กเท่ามดและกำลังเดินผ่านกอหญ้าเหมือนในการ์ตูนเรื่อง A bug’s life อยู่เลย (ผมรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ นะ)



          ในหลาย ๆ ช่วงต้องข้ามห้วย จำได้ว่าเฉพาะวันแรกผมข้ามไป 7-8 ห้วยได้ ระดับน้ำจะอยู่ที่ระดับตาตุ่ม "surprise !!! เอามาแต่ผ้าใบ" = =" แต่สิ่งนี้คงยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของที่นี่ได้เป็นอย่างดี...ว่าไหมละครับ



          พี่เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่าเส้นทางระหว่างอุทยานฯ ถึงแคมป์แม่กระสาจะมีกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าอยู่ 3 จุด จุดหนึ่งจะประกอบด้วยกล้อง 2 ตัว ติดกับต้นไม้ตั้งไว้ตรงกันข้ามกันขนาบทางผ่านของสัตว์ เหตุที่ต้องทำเช่นนี้เพราะในการแยกแยะว่า เสือที่ผ่านกล้องนั้นเป็นตัวเดียวกันหรือคนละตัวจะสังเกตได้จากลายที่เป็นเอกลักษณ์บนตัว และการที่มีกล้องติดไว้ 2 ข้าง ก็เพื่อที่จะสามารถดูลายได้ทั้งด้านซ้ายและขวา



          ใกล้เที่ยงแล้วก็เลยพักกินข้าวกันก่อน ก็กินกันตรงทางเดินนั้นแหละ เพราะว่าถ้าไปนั่งในพงหญ้าหรือใบไม้แห้งอาจไปโดนตัวคุ่นกัดได้ ทีนี้ละเรื่องใหญ่เลย เพราะมันจะทำให้เกิดแผลเป็นที่ค่อนข้างที่จะหายช้า ถ้ายังไงฉีดสเปรย์กันแมลงมาก่อนก็ดีครับ แล้วก็หลีกเลี่ยงการไปนั่งบนเศษหญ้าแห้งหรือขอนไม้ผุ ๆ นะครับ เพราะชอบมีตัวคุ่นซ้อนตัวอยู่



          ระหว่างทางสวนกับพระสายอรัญวาสีครับ ท่านน่าจะกำลังกลับจากการออกธุดงค์



          ราว ๆ บ่าย 2 พวกเราก็ถึงแคมป์แม่กระสา ถือว่าเดินทางค่อนข้างเร็ว (มาก) Navi ของเราบอกว่าจริง ๆ ควรจะมาถึงราว ๆ 4 โมงเย็น (เร็วกว่าที่คิด 2 ชั่วโมง) แต่อย่างไรก็ตามก็ช้ากว่าพวกพี่ ๆ ลูกหาบที่ออกตัวทีหลัง (มาก) และตอนนี้กางเต็นท์ให้เกือบเสร็จเรียบร้อยแล้ว = ="



          หน้าตาแคมป์ของพวกเราครับ



          คนนี้ชื่อ เดช ครับ เป็นลูกหาบที่เรียกผมว่าพี่มาตลอด แต่มาทราบทีหลังว่าอายุเท่ากัน (27 ปี) เดชจะคอยเล่าและคอยให้คำแนะนำหลาย ๆ อย่างกับพวกเรา เดชเล่าให้ฟังว่าเคยไปทำงานมาแล้วทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ แต่สุดท้ายก็กลับมาทำนาและรับจ้างทั่วไปที่นี่ และรับจ๊อบเป็นลูกหาบในช่วงเสาร์-อาทิตย์ในฤดูกาลท่องเที่ยว ในภาพเดชที่มาถึงก่อนผมสักครึ่งชั่วโมงได้ กำลังหุงข้าวให้พวกเราอยู่ครับ



          การหุงข้าวของเราในวันนี้เป็นการหุงด้วยฟืนครับ ซึ่งหลายคนคงจะรู้ว่าความยากมันอยู่ที่การคุมไฟ และการกะเวลาที่จะทำให้ข้าวหุงสุกและขึ้นรูปสวยพอดี ซึ่งต้องใช้ทั้งความชำนาญและประสบการณ์อย่างมาก และแน่นอนครับพ่อครัวชาวเขาของเราหุงข้าวได้เป๊ะมาก



          พี่ฮ๊อต เป็นพี่ลูกหาบอีกคนที่ผมชอบมาก พี่ฮ๊อตก็เป็นอีกคนที่เรียกผมว่าพี่ทุกคำ แม้จะอายุมากกว่าผม 2 ปี พี่ฮ๊อตในวันแรก ๆ จะเงียบมาก เหมือนจะขี้อาย แต่พอสนิทกันแล้วพี่แกจะนิสัยน่ารัก ชอบแซวเหมือนเด็ก และคอยยิงมุกตลอดเวลา แกเป็นคนที่ร่าเริงมาก ที่ฮ๊อตเล่าให้ฟังว่าแกเดินขึ้นโมโกจูมาทั้งสิ้น 98 ครั้งแล้ว แกอยากจะทำรายสถิติคนที่เดินขึ้นบ่อยที่สุด คือ 124 ครั้ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อีกคน แกบอกว่าแกมีความสุขที่ทำงานแบบนี้ แม้ไม่ได้มีเงินมาก และแกมีความสุขที่ได้เป็นลูกหาบ เพราะว่าแกชอบรู้จักผู้คน ดูความเป็นไป และลักษณะคนประเภทต่าง ๆ คงด้วยเหตุนี้ละมั้ง ผมถึงค่อนข้างรู้สึกถูกชะตากับแก พี่ฮ๊อตเป็นลูกหาบที่กระตือรือร้นที่จะดูแลพวกเรามากครับ แม้ไม่ได้เอ่ยปากแกก็รู้อยู่แล้วว่าพวกเราต้องการอะไร





          ถ้าถามว่าเรื่องอาหารการกินเป็นยังไงก็ตามภาพครับ ผมไม่รู้ว่ามันเรียกว่าอะไรเหมือนกัน แต่อร่อยมาก พ่อครัวของเราจัดเตรียมมาให้ทั้งของคาว ของหวาน มื้อดึก มื้อพิเศษ เรียกได้ว่าไม่ต้องกลัวอดเลยจริง ๆ



          กลุ่มอื่นที่มาพร้อมกันเหมือนจะอยากขึ้นไปบนยอดเร็ว ๆ เลยจะรวดไปพักที่แคมป์แม่เรวาเลย จริง ๆ พวกเราก็อยากจะทำอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ Navi ของเราบอกว่าไม่อยากให้รีบขนาดนั้น ให้ค่อย ๆ ไปเพราะลูกหาบกลุ่มเรามีน้อยเดียวพวกพี่เขาจะเหนื่อยเกินไป เจอเหตุผลนี้เข้าไปทุกคนไม่มีข้อกังขาอีกต่อไป เพราะลูกหาบเราแบกของเยอะมากจริง ๆ และทางที่เรามาก็ลำบากสุด ๆ แค่ผมแบกของส่วนตัวกับกล้อง ยังแทบแย่เลยครับ



          สิ่งที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งที่ผมสัมผัสได้ถึงความแตกต่างจากชีวิตในเมืองตอนอยู่ที่นี่ คือ เรามีโอกาสได้คุยกันมากขึ้น เนื่องจากไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ผมว่าคนเราเดียวนี้คุยกันแบบหน้าต่อหน้า (Face to Face communication) น้อยลงมากนะ เพราะเดียวนี้คนส่วนใหญ่ชอบสื่อสารกันผ่านมือถือหรือจอคอม ผมว่าจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ผิดอะไรนะ แต่ผมว่าการได้คุยแบบเห็นหน้ามันดูมีเสน่ห์กว่า ตรงที่เราได้มองตาคนที่เราพูดด้วยและพอจะเดาได้ว่าคนฟังเขารู้สึก เขาคิดยังไงโดยดูผ่านทางสีหน้าและแววตา อันนี้เป็นเพียงมุมมองหนึ่งของผมนะครับ เป็นมุมของของคนที่เวลาคุยกับเพื่อนผ่าน Chat แล้วเพื่อนตอบมาว่า "555" "อ่า" หรือ "อืม" แล้วไปต่อไม่เป็น เพราะไม่รู้ว่าเขาต้องการจะสื่ออะไร



          เรื่องเล่าแห่งขุนเขา "ตำนานบึงลากะโต"

          ช่วงเวลาที่ผมชอบมากที่สุดของการเดินทาง ก็คือ การนั่งฟังเรื่องเล่าตำนานและประสบการณ์การเดินทางอันน่าตื่นเต้นของแต่ละคน ในคืนนี้ช่วงหัวค่ำ พี่เอก และ พี่ขวัญ (สมาชิกอีกคนของทริปที่เดินป่าบ่อยมาก) ได้เล่าให้ฟังถึงสถานที่ที่หนึ่งที่อยู่ในป่าแถบนี้ที่อยากไปสักครั้ง แต่ไปได้ยากเพราะอยู่ในส่วนปิดของอุทยานแห่งชาติอุ้มผาง นั่นก็คือ "บึงลากะโต" จากคำบอกเล่าของพี่เอก บึงลากะโตเป็นบึงศักดิ์สิทธิ์ของชาวกะเหรี่ยงในแถบนั้น ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่ากันมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาศัยอยู่ ลักษณะเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่สีเขียวมรกต ก้นบึงเป็นดินขาวเพราะเคยเป็นปากปล่องภูเขาไฟที่ยุบตัวมาก่อน บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยชุกชุมของสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ และในละแวกนั้นมีชุมชนชาวเขาอยู่ เท่าที่ผมจำได้ (แบบไม่แม่น) คือ หมู่บ้านเลตองคุ และโกโซโว่ (ถ้าชื่อผิดขออภัยนะครับ ชื่อไม่คุ้นจริง ๆ) มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า สมัยก่อนเคยมีชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งพาลูกออกไปหาปลาที่ริมบึงในคืนที่พระจันทร์เต็มดวง และน้ำในบึงสะท้อนแสงเป็นสีเขียวตามสีของน้ำเล่นกับพระจันทร์ ในระหว่างพี่พ่อกำลังจับปลาและปล่อยให้ลูกเล่นอยู่ตรงริมบึงนั้น ลูกชายก็ถูกปลาตัวใหญ่ลากลูกชายลงน้ำไปต่อหน้าต่อตาผู้เป็นพ่อโดยที่เขาไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย

          พอพูดถึงตำนานพอเริ่มดึก อารมณ์แต่ละคนกำลังมา บทสนทนาก็เริ่มที่จะไสยศาสตร์ขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องสิ่งลึกลับและอาถรรพ์ในป่าในที่ต่าง ๆ ซึ่งก็รวมถึงที่โมโกจูแห่งนี้ด้วย @_____@



          เช้านี้ที่ห้วยแม่กระสา เมื่อคืนด้วยความล้าจากการเดินทางเรานอนกันตั้งแต่ 3 ทุ่ม อากาศอยู่ที่ 5-6 องศาได้ ในวันนี้จะเป็นเส้นทางระยะสั้นเพราะต้องเก็บแรงและสภาพร่างกายเพื่อวันสุดท้าย เราออกเดินทางกันค่อนข้างสายคือราว ๆ 10 โมง



          ที่พักของลูกหาบอีกกลุ่มหนึ่งที่ตั้งแคมป์อยู่ใกล้ ๆ กันครับ น่านอนมาก คือ เอาผ้าใบมาปูข้างกองไฟและขึงใบตองไว้กันลม เขาว่าสบายกว่าอยู่ในเต็นท์อีก



          ห้องน้ำแคมป์แม่กระสาถือว่า OK เลยทีเดียว แนะนำคนที่อยากมาเที่ยวที่นี่แล้วค่อนข้างจุกจิกเรื่องห้องน้ำ ให้เอาออกให้หมดไส้หมดพุงตั้งแต่ที่นี่นะครับ ไม่งั้นอาจจะเจอภาพสยองขวัญติดตาแบบที่ผมเจอก็เป็นได้ (ขออภัยที่ไม่มีภาพประกอบครับ ภาพมันโหดเกินไป แค่ระลึกถึงผมก็ขนลุกซู่แล้วครับ)



          ราว ๆ 10 โมง เราก็ออกเดินทางกันอีกครั้งครับ ที่วันนี้ออกสายได้เพราะที่หมายเราไม่ค่อยไกลนัก เป้าหมายวันนี้เพียงแค่ไปตั้งแคมป์ที่ห้วยแม่เรวา แล้วก็ไปเที่ยวน้ำตกชิล ๆ ที่น้ำตกแม่เรวา (หรือบางคนเรียก น้ำตกรีวา) จากนั้นก็กลับมาพักผ่อนที่แคมป์ เหตุที่วันนี้ทริปมันดูสบาย ๆ ก็ตามที่เคยได้บอกไปครับ คือ เราต้องเก็บแรงไว้สำหรับ "ของจริง" พรุ่งนี้ครับ วันที่ 3 นี่อย่างโหดจริง ๆ ทั้งเส้นทาง ทั้งระยะทาง



          บางช่วงเราต้องข้ามสะพานไม้



          บางช่วงเราต้องข้ามสะพานต้นไม้



          ไม่นานครับ หลังจากเดินฝ่าดงไผ่ไปเรื่อย ๆ ราว ๆ 2-3 ชั่วโมง เราก็มาถึงแคมป์ที่ 2 แคมป์แม่เรวา ซึ่งอยู่ริมห้วยแม่เรวา ตรงนี้เป็นหนึ่งในบริเวณที่ถ้ามีการสร้างเขื่อนขึ้น...บริเวณนี้ทั้งหมด และสูงขึ้นไปอีกหลาย 10 เมตร จะจมอยู่ใต้เขื่อนครับ (จริง ๆ ก็รวมถึงตลอดเส้นทางทั้งหมดที่ผมเดินมาด้วยนั้นแหละครับ)



          มาถึงก็ช่วยกันกางเต็นท์ก่อนเลย บริเวณนี้ที่ราบจะน้อยกว่าแคมป์แม่กระสาครับ แม้แต่ตรงที่ผมนอนก็ไม่ถึงก็ราบทีเดียว แอบเอียงลาดให้ผมไหลลงไปกองตอนนอนเบา ๆ ซึ่งหลังจากนี้ลานกว้างเรียบ ๆก็จะน้อยกว่านี้อีกครับ



          พระพุทธรูปกลางป่า



          สงสัยไหมครับว่าทำไมถึงมีพระพุทธรูปตั้งอยู่บริเวณนี้ ? เรื่องที่จะเล่าอาจจะผิด theme กับสีภาพไปสักนิดส์ ในวันถัดมาที่แคมป์ขอนไม้ พี่ฮ๊อตเล่าให้ฟังว่าพึ่งนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ (ใช้คำนี้ได้หรือเปล่าหว่า) ตรงบริเวณนี้ได้สักเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา เหตุก็เพราะมีสมาชิกคณะเดินทางกลุ่มหนึ่งมาลองนั่งกรรมฐานกลางดึก ตรงบริเวณก่อไผ่ตรงข้ามกับต้นตะเคียนบริเวณที่พระพุทธรูปตั้งอยู่ แล้วก็มองเห็นเป็นนางไม้มาชวนให้ไปอยู่ด้วย ซึ่งก็มีคนพบเห็นนางตะเคียนตรงบริเวณนี้อยู่หลายครั้ง จนมีการนำพระพุทธรูปมาตั้งเอาไว้ (ขอบคุณมากครับพี่ที่ไม่เล่าวันที่ผมพักตรงนี้)



          สำหรับบางคนหรือบางสถานที่เปลก็สะดวกกว่าเต็นท์



          น้ำใสไหลเย็นเห็นเรือใบ (เดี๋ยวนะ)



          หลังคามุงไผ่





          เกิดเหตุไม่คาดฝันระหว่างล้อมวงคุยกันครับ คือ กระป๋องแก๊สสนามที่กำลังใช้เพื่ออุ่นแกงเกิดใกล้ไฟเกินไปแล้วติดไฟขึ้น ในนาทีที่หลายคนยังติด stun ทำอะไรไม่ถูกว่าจะเข้าไปจัดการหรือวิ่งหนีแก๊สระเบิดดี เดชเป็นคนแรกที่วิ่งไปพยายามหยิบกระป๋องที่ติดไฟด้วยมือเปล่า เพื่อที่จะโยนไปไกล ๆ (ยกนิ้วโป้งให้ 3 ครั้งเลย เยี่ยมจริง ๆ เยี่ยมจริง ๆ เยี่ยมจริง ๆ) จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผมได้ความรู้ 2 อย่างครับ คือ 1 แก๊สที่ระเบิดคือแก๊สที่อยู่ในกระป๋องที่ปิดสนิทแล้วโดนความร้อนเผา ส่วนแก๊สที่เปิดในลักษณะนี้จะลุกไหม้แรงแต่ไม่ระเบิด และอานุภาพของกระป๋องแก๊สระเบิดสามารถทำให้ดินเป็นรูได้ ในภาพเดชกำลังเอามือจุ่มในน้ำที่ตักมาจากห้วยแม่เรวาเพื่อไม่ให้เกิดแผลพุพอง จริง ๆ ตามหลักควรจะแช่ในน้ำเย็น แต่นั้นก็ไม่ใช่ปัญหาครับ เพราะน้ำในห้วยแม่เรวานี่โคตรจะเย็นเลย (ตอนอาบน้ำนี่เป็นอะไรที่ซะดิ้วฮิ้วมากครับ)



          หลังจากกางเต็นท์และหายเหนื่อยแล้ว พี่เจ้าหน้าที่ก็พาเราไปดูน้ำตกแม่เรวาครับ จากที่ตอนแรกได้เดินข้ามสะพาน --> ข้ามสะพานไม้ --> ข้ามต้นไม้ ตอนนี้ต้องกระโดด ๆ บนก้อนหินเป็นมาริโอ้แล้วครับ ยิ่งลึกทางยิ่งโหดขึ้นจริง ๆ



          เห็ดถ้วยบนขอนไม้ใหญ่ระหว่างทางครับ ตั้งแต่เกิดมาผมก็พึ่งเคยเห็นเห็ดถ้วยบนขอนไม้เยอะขนาดนี้ เขาอยู่กันเรียงราย 2-3 เมตร ตลอดแนวลำต้นเลย



          ถึงแล้วครับน้ำตกรีวา (แม่เรวา)



          หลังกลับมาจากน้ำตกเห็นพี่ ๆ ลูกหาบกินอะไรสักอย่างกันอยู่ เลยขอเข้าไปแจมด้วยความหิว ลูกเขียว ๆ นั่นมีชื่อว่า "ดีปลากั้ง" ครับ รสชาติออกขม ๆ ปนหวาน กินกับน้ำพริก (เข้าใจว่าปลาร้า) อร่อยใช้ได้เลยครับ



          พอเริ่มคุ้นเคยเราก็เริ่มเห็นรอยยิ้มของพี่ฮ๊อต



          อีกครั้งหนึ่งที่เรามานั่งล้อมวงรอบกองไฟเพื่อแบ่งปันประสบการณ์กัน คืนนี้พิเศษหน่อยตรงที่ Navi พี่เอกของเราทำบัวลอยไข่หวานให้กิน อากาศหนาว ๆ ได้กินอะไรหวาน ๆ อุ่น ๆ นี่มันอร่อยมากจริง ๆ นะครับ แถมพี่เอกยังเปิดเพลงเพื่อชีวิตผ่านทางวิทยุพกพาให้ฟังอีก ตอนที่เพลงแสงจันทร์ ของมาลีฮวนน่า ดังขึ้น แล้วผมแหงนมองดูท้องฟ้ามันเป็นอะไรที่ฟินมากครับ ทำเอาผมคิดถึงสมัยทำค่ายอาสาตอนยังเป็นนิสิตอยู่เลย



          รู้จักเพลง "คนเก็บฟืน" ของคาราบาวไหมครับ ? ผมเคยฟังเพลงนี้มาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีครั้งไหนที่ฟังแล้วจะอินเท่าค่ำคืนนี้อีกแล้ว เพราะทุกท่อนของเพลง คือ สิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ ณ ตอนนี้
         
          "เบื้องบนเป็นแผ่นฟ้ากว้าง เบื้องล่างเป็นธารน้ำใส ตัวฉันมีกาน้ำหนึ่งใบ กับกองฟืนที่วางอยู่เรียงราย" คนเก็บฟืน : คาราบาว



          เช้านี้เรามีนัดที่จะตื่นกันตอน 6 โมง และจะเริ่มออกเดินทางกันตอน 7 โมง (แต่ก็เป็นเวลาที่พี่ฮ๊อตกะเผื่อไว้แล้วว่ามันจะต้องเป็น 8 โมงกว่า) ผมรีบตื่นมาแต่เช้าตามเวลา จริง ๆ คือนอนไม่ค่อยหลับเพราะพื้นที่กางเต็นท์มันเอียงทำให้ไหลมากองอยู่บ่อย ๆ คนแรกที่ผมพบ คือ พี่ฮ๊อต ที่กำลังเตรียมอาหารเช้าให้อยู่ จากภาพพี่ฮ๊อตกำลังอุ่นน้ำมันพืชสูตรที่เป็นไขเพราะอากาศเย็นของเมื่อคืนอยู่



          พี่เล๊ง (เพื่อนใหม่อีกคนที่พึ่งมารู้จักกัน) กำลังกรองน้ำด้วยกระบอกกรองน้ำเพื่อเอาไว้ดื่มกิน จริง ๆ น้ำบริเวณนี้สะอาดมากอยู่แล้วครับ แต่ก็เผื่อเอาไว้ก่อน เหตุผลที่ต้องทำอย่างนี้เพื่อเป็นการลดภาระในการแบกน้ำขึ้นมาครับ เพราะมันหนักมาก ตอนแรกที่ขึ้นมาพี่เอกจะให้ติดตัวไว้คนละ 2 ขวด และจะมีของกองกลางอีกเอาไว้เผื่อและทำอาหาร



          ห้วยแม่เรวา



          ระหว่างรอให้ชาวคณะเก็บและคัดแยกสัมภาระ



          และแล้วก็ถึงช่วงที่โหดที่สุดของทริปนี้ นั่นคือ การเดินทางขึ้นสู่ยอดโมโกจู จากสัมภาระไร้สาระที่คัดออกตั้งแต่ก่อนเข้ามาแล้ว เราจะเริ่มคัดกันอีกครั้งเพื่อลดน้ำหนักให้ได้มากที่สุด สัมภาระจะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกของที่จะให้ลูกหาบช่วยแบกขึ้นไปให้ เช่น ถุงนอน ขาตั้งกล้อง เต็นท์ ส่วนที่ 2 สัมภาระส่วนตัวที่จำเป็นต้องติดตัว เช่น กล้อง และของไม่ค่อยจำเป็นที่ทิ้งไว้ที่นี้รอมาเอาวันลงได้ เช่น ผ้าอาบน้ำ (เพราะไม่มีน้ำอาบ) ชุดเปลี่ยน สำหรับผมก็ได้แก่พวกสมุดและเครื่องเขียนที่กะจะเอาไปนั่งวาดรูปข้างบน แต่จากอุณหภูมิ 4 องศา ที่ทำให้นิ้วแข็งแล้ว ผมจึงตัดสินใจไม่เอาไปดีกว่า = = อันไหนไม่เอาไปก็แขวนไว้กับราวไม้ไผ่



          เริ่มออกเดินทางกันอีกครั้ง





          ถ้าถามว่าทางเป็นยังไง ลำบากมากไหม ก็ตามภาพเลยครับ เดียวจะหาว่าคุย ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือนเดินขึ้นรางเลื่อน Slider แต่ก็เป็นการเดินขึ้น Slider ติดต่อกัน 6 ชั่วโมง คิดเป็นระยะทางก็ราว ๆ 8-9 กิโลเมตร ประมาณนั้นแหละครับ





          ตลอด 5 วัน แต่ละคนจะพกขวดน้ำคนละ 2 ขวด ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่พอ และเราต้องมาเติมน้ำที่ธารน้ำอยู่เสมอ แต่นั้นก็ทำให้เราได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมากขึ้น (หลัง ๆ เริ่มไม่กรองน้ำละ) หลังจากออกจากแคมป์แม่เรวา จะมีห้วยเล็กให้เติมน้ำเพียง 2 จุดเท่านั้น ฉะนั้น ต้องคำนวณการใช้น้ำให้ดี ไม่อย่างนั้นก็ต้องเดินยาวละครับกว่าจะมาเติมน้ำได้ ซึ่งค่อนข้างไกลจากจุดที่พักมาก



          พี่ต้อ (Navi อีกคนของทริป) บอกว่าเขาชื่อ "เอื้องน้ำต้น" ครับ ดอกเล็กน่ารักมาก



          เส้นทางคร่าว ๆ ของวันนี้ คือ ต้องขึ้นเขา 2 ลูก ที่สูงพอ ๆ กัน ประเด็นมันอยู่ที่เราจะต้องขึ้นไปถึงสุดยอดของลูกหนึ่ง แล้วก็เดินลาดลงมายาว ๆจนถึงตีนเขา จากนั้นก็ต้องเริ่มเดินขึ้นใหม่แบบรัว ๆ ซึ่งสูงกว่ายอดลูกแรกซะอีก ความโหดมันอยู่ตรงนี้ละครับ ส่วนภาพนี้ คือ หลังจากผ่านเขาลูกแรกแล้วตรงหุบระหว่างลูกแรกกับลูกที่สองจะมีจุดกางเต็นท์อยู่ ชื่อว่า "คลอง2" เพราะว่าอยู่ใกล้กับห้วยเล็ก ๆ ห้วยที่ 2 ที่สามารถมาเติมน้ำได้ และเป็นห้วยสุดท้ายที่จะเจอก่อนขึ้นยอดโมโกจู ส่วนนางแบบในภาพเป็นสมาชิกทริปอีกคนหนึ่งที่ผมก็พึ่งมารู้จักเหมือนกันครับ ชื่อ พี่ก้อย ซึ่งก็ต้องขอบคุณพี่ก้อยที่ช่วยให้ผมได้ถ่ายรูปแนวอื่นบ้างนอกจากต้นไม้ ใบหญ้า ดิน ฟ้า และอากาศ



          นี่คือห้วยเล็ก ๆ ที่ว่าครับ พอข้ามห้วยปุ๊บก็จะเป็นดอยที่ 2 ตั้งขึ้นไป ให้เดินขึ้นกันรัว ๆ เลยครับ



          เดินขึ้นมาอีกเกือบชั่วโมงเราก็มาถึงแคมป์ขอนไม้ครับ มาถึงก็จัดแจงกางผ้าใบ ก่อไฟทำกับข้าวกันก่อนเลย เดียวพอถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกแล้ว หิว ๆ จะได้กินได้เลย





          สภาพลูกหาบ ต่อให้อึดถึกแค่ไหนหรือต่อให้มีกล้ามเป็นมัด ๆ แบบบัวขาว ลองได้แบกของกว่า 20 กิโลกรัม เดินขึ้นดอยชัน ๆ แบบที่นี่ 6 ชั่วโมงรวด เป็นได้หอบกันทุกคนแหละครับผมว่า



          พี่นุ tent mate และนายแบบ (จำเป็น) ของผมอีกคนครับ



          และแล้วก็ถึงเวลาลุยกันต่อ จริง ๆ แดดยังไม่คล้อยดีนัก แต่ทุกคนก็อยากจะรีบไปเห็นยอดหินในตำนานกันไว ๆ



          ข้างหน้านั้นแหละครับ "ยอดโมโกจู" พวกผมโชคดีหน่อยที่วันนี้มันไม่ "โมโกจู" สมชื่อ (โมโกจู แปลว่า คล้าย ๆ ว่าฝนจะตก) แดดดีฟ้าเปิดมากครับ พี่เอกบอกว่าเราโชคดีมาก พี่เอกจัดทริปพาขึ้นมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่ฟ้าจะเปิดอย่างนี้ และถ้าเกิดฟ้าไม่เปิดขึ้นมาก็ทำอะไรไม่ได้นอกจาก "ทำใจ" ครับ ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องน่าเศร้ามิใช่น้อย



          ในที่สุดก็มาถึงสักที อารมณ์ตอนที่ค่อย ๆ ปีนแล้วเห็นยอด เหมือนกับเพลง ost. Jurassic park ภาคแรกดังขึ้นมาเลยครับ (อันนี้จริง ๆ ไม่ได้โม้) คือ มันภูมิใจมากครับ และสิ่งที่เห็นกับตามันยิ่งกว่าที่หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมากครับ (น้ำตาจิไหล)















          เผื่อมีคนสงสัยว่ามันยากลำบากขนาดนี้แล้วอย่างฉันจะมาที่นี่ไหวไหม 2 คนนี้ คือ สมาชิกทริป 2 คน ที่เหลือที่ผมยังไม่ได้พูดถึงครับ คุณน้า-อาทั้ง 2 คน มาด้วยกันครับ ทั้งคู่ไม่ได้เดินเร็วหรือเดินอึดเดินทนอะไร ผมจำได้ว่าตลอดทางที่มาทั้ง 2 คน จะรั้งท้ายเสมอ แต่ทั้งคู่ก็เดินมาเรื่อย ๆจนถึง  2 คน นี้ทำให้ผมนึกถึง สุภาษิตของชาวแอฟริกันที่ว่า "เดินคนเดียวอาจจะไปได้เร็วกว่า แต่ถ้าเดินด้วยกันจะไปได้ไกล"



          นี่คือด้านทิศเหนือครับ ทางที่เรามาและเต็นท์เราอยู่ตรงภูเขาลูกข้างหน้านี้เอง









          พี่นุ โชว์สเต็ปการ selfie ขั้นเทพแบบไม่ใช้กล้อง Gopro ผมก็สงสัยมาตั้งแต่ก่อนขึ้นมาแล้วว่า พี่แกพกเทปกาวขึ้นมาทำไม มาถึงนี่ผม อ้ออออเลย...เพื่อการนี้นี่เอง (คนอินดี้นี่มันอินดี้จริง ๆ)



          "กะเจอลา ในม่านหมอก" กะเจอลา หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ เขาเขียว อยู่ในส่วนอุทยานแห่งชาติอุ้มผาง เป็นอีกที่หนึ่งที่เป็นที่ใฝ่ฝันของนักเดินทางหลาย ๆ คน กะเจอลานั้นสูงกว่าโมโกจูอีกครับ รู้สึกว่าจะสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ และเป็นเพียงไม่กี่ที่ในไทยที่อยู่สูงกว่า 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล (กะเจอลา สูง 2,152 เมตร โมโกจู สูง 1,964 เมตร)



          Feel the nature.





          ตอนนี้ต้องขอลาไปกินข้าวก่อน พรุ่งนี้เช้าเดียวเจอกันใหม่



          ดึก ๆ ผมขอพี่ฮ๊อตพาขึ้นมาอีกรอบเพื่อมาเก็บช้าง เสียดายที่กล้องผม Noise เยอะไปหน่อย (600D) แล้วดันลืมถ่ายเป็น RAW มาอีก เลยได้แค่นี้ ซึ่งผมตั้งใจแล้วว่าคราวหน้าจะขึ้นมาล่าใหม่ (ตอนนี้ผมใช้ 6D แล้ว และเริ่มถ่ายเป็นบ้างแล้วครับ)



          ศัพท์นักเดินทางวันละคำ "นอนปลาทู" หมายถึงการนอนเรียงกันเป็นตับชิด ๆ กันใต้ผ้าใบให้อุ่น ๆ ในกรณีที่ไม่มีที่กางเต็นท์หลายเต็นท์ เหตุที่คืนนี้ผมและผู้ชายคนอื่น ๆ ในทริปต้องมานอนปลาทูกัน ก็เพราะเราจำเป็นต้องสละเต็นท์เพื่อลดน้ำหนักให้น้อยที่สุด เพื่อให้ลูกหาบสามารถแบกขึ้นมาได้ คืนนี้แม้จะเป็นวันที่ผมเหนื่อยที่สุด เพลียที่สุด แต่ก็เป็นคืนที่นอนไม่หลับที่สุด...นั่นก็เพราะว่าลมภูเขาที่เย็นชื้น บนความสูง 1.6 กิโลเมตร จากระดับน้ำทะเลนี้มันพัดมาตลอดเวลา ที่แม้แต่ถุงนอน queshua 0 องศา ที่ผมใช้ก็แทบจะเอาไม่อยู่ แต่นั่นก็ไม่หนักหนาเท่าเสียงกรนของเพื่อนปลาทูตัวอื่น ๆ ในเข่งเดียวกัน ที่เขาบอกว่ายิ่งเหนื่อย เสียงกรนยิ่งดัง สงสัยถ้าจะจริงแหะ



          เช้านี้เราตื่นกันตั้งแต่ตี 5 เพื่อมารอดูพระอาทิตย์ขึ้น อากาศตอนเช้านี้หนาวมาก หนาวกว่าคืนก่อน ๆ อีกครับ เพราะเราอยู่บนที่สูง กลางป่า ที่ลมภูเขาพัดแรงมาก













          เย็นวันสุดท้ายของการค้างแรมกันกลางป่า ซึ่งเป็นคนข้ามปีพอดี เราเดินทางกลับยาว ๆ จนมาถึงแคมป์แม่กระสา หลังจากจัดการเรื่องเต็นท์ที่พักและอาหารเสร็จแล้ว ก็เป็นอีกครั้งที่พวกเรามานั่งล้อมวงดื่มและคุยกัน ครั้งนี้มีพี่เจ้าหน้าที่มาร่วมวงด้วย เป็นอีกครั้งที่ผมได้รู้อะไรอีกหลาย ๆ อย่าง ผมว่าการ Backpack มาเที่ยวคนเดียวเนี่ยมันมีข้อดีตรงที่นอกจากเราจะมีเวลาอยู่กับตัวเองนาน ๆ ให้ได้คิดทบทวนในเรื่องต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้และรู้จักชีวิตผ่านผู้คนที่เราได้พบเจอด้วย แต่นั่นเราก็ต้องเปิดใจ ไม่กั้นกำแพงใจเข้าหากัน ไม่มีเขา ไม่มีฉัน มีแต่ "พวกเรา" แล้วเราจะได้อะไรอีกเยอะมาก

          ครั้งนี้ผมได้เรียนรู้ ได้รู้จักเรื่อง "เสือ" มากขึ้น ผมได้รู้ว่าเสือนั้นหากินช่วงหัวค่ำและเช้าตรู่ รู้ว่าแม้ที่นี่เสือจะชุก แต่มันก็เลือกที่จะหลบคน ซึ่งตัวพี่เจ้าหน้าที่เองที่ทำงานมา 19 ปี ก็เจอจัง ๆ แค่ 7-8 ครั้งเท่านั้น และรู้ว่านอกจากเสือจะเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ในฐานะห่วงโซ่ที่อยู่สูงสุด คือ อยู่ในกลุ่มนักล่า (Predator) แล้ว เสือยังช่วยคัดสรรตามธรรมชาติคอยกินสัตว์ที่ป่วยหรืออ่อนแอ ไม่ให้แพร่ระบาดมาสู่คน เพราะโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนเป็นอะไรที่อันตรายมาก และอีกอย่างหนึ่งที่พบพึ่งจะได้รู้ ก็คือ จริง ๆ แล้วพี่ฮ๊อตลูกหาบสุดขยันของเรา แต่เดิมก็เป็นอดีตเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ฝีมือฉกาจเช่นกัน แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างแกจึงลาออกไป



          Passport ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีว่างไว้สำหรับปั๊มตราปั๊มของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เสียดายที่ผมพึ่งได้มันมา ที่นี่จึงเป็นที่แรกที่ผมได้ตราประทับ Passport เล่มนี้ทำให้ผมรู้ว่าประเทศยังมีที่ท่องเที่ยวอีกเยอะ และในหลาย ๆ ที่ที่ไม่ได้เป็นที่นิยมก็สวยงามและน่าไปกว่าที่ยอดนิยมตั้งเยอะ เพียงแค่ว่าอาจจะไปยากกว่าและขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีก็เท่านั้น...ไม่สิ น่าจะเรียกว่า "จงใจ" และพยายามจะไม่ประชาสัมพันธ์มากกว่า

          ในคืนเรื่องเล่ารอบกองไฟคืนที่ 2 ช่วงดึก พี่เอกและพี่ต้อเล่าให้ผมฟังว่า ประเทศไทยนั้นมีทรัพยากรธรรมชาติและสถานที่ที่มีความงดงามทางธรรมชาติอีกเยอะมาก แต่เจ้าหน้าที่พยายามไม่โปรโมทเพื่อที่จะ "รักษา" มันด้วยความที่ "คนไทย" มีหลายประเภท "นักท่องเที่ยว" มีหลายประเภท บางคนเป็นนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ท่องเที่ยวแบบไม่ใส่ใจกับการดูแลรักษาสถานที่ที่พวกเขาไปเยือนให้คงอยู่ต่อไป ดังเช่น ภูกระดึง ที่ครั้งหนึ่งเคยพบทั้งกระทิงและเลียงผา รวมถึงนกเงือก ซึ่งเดียวนี้ก็เหลือเพียงช้างอันธพาล หมาไน และกวางนิสัยเสีย เหมือนเขาใหญ่ที่กวางและเม่นออกมาหากินขยะและขอของกินจากนักท่องเที่ยว เหมือนอย่างเช่น ปายที่เปลี่ยนจากเมืองเล็ก ๆ ในหมอกกลายเป็นถนนข้าวสาร 2 นั่นก็เพราะคนไทยนั้นขาดสิ่งที่เรียกว่า "จิตสาธารณะ" พี่โน้ต (ชาวคณะอีกคนหนึ่ง) เล่าให้ฟังว่าฝรั่งชอบป่าประเทศไทย เพราะอุดมสมบูรณ์กว่าบ้านเมืองเขา โดยเฉพาะอเมริกา แต่เรามีปัญหาเรื่องอิทธิพลและนายทุนที่ต้องการมาแสวงหาผลกำไรจากป่า ทำให้ป่าของเราค่อย ๆ หมดลงไปทุกวัน ๆ



          Epilogue : อีกหนึ่งการเดินทาง Backpack คนเดียวของผมจบลงอีกครั้งอย่างน่าประทับใจ และได้อะไรกลับไปเยอะมาก ผมชอบการเดินทางแบบไม่วางแผน หรือวางไว้คร่าว ๆ แล้วค่อยไปคิดอีกทีเอาดาบหน้า เพราะความสนุกของการเดินทาง Backpack อยู่ที่การที่อะไร ๆ ไม่เป็นไปตามแผนนั้นแหละ ซึ่งทริปนี้ก็ให้ อะไร ๆ ที่ไม่เป็นไปตามแผนกับผมเยอะทีเดียว แม้กระทั่งตอนกลับที่รถตู้ที่จะมารับเกิดปัญหามารับไม่ได้ จนต้องเปลี่ยนแผนจ้างชาวบ้านละแวกนั้นขับกระบะจากอุทยานฯ มาส่งที่กรุงเทพฯ

          สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าได้และเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผมมากที่สุดสำหรับทริปนี้ คือ ที่หมายถัดไปที่อยากจะไปพิชิตให้ได้ตามคำแนะนำและคำบอกเล่าของพวกรุ่นพี่ ผมว่า...บางที่ความสุขในช่วงกลางคนหรือบั้นปลายของผมอาจจะไม่ใช่มีบ้าน มีรถ มีภรรยา มีลูกที่น่ารัก มีหน้าที่การงานที่มั่นคง แล้วมีความสุขบั้นปลายกับการเลี้ยงหมาและดูทีวีไปวัน ๆ เหมือนคนอื่น ๆ แต่เป็นการเดินทางรอบโลกอย่างที่ผมฝันมาตลอดเมื่อตอนเป็นเด็กก็เป็นได้ แต่ก็นั้นแหละ...เรื่องของอนาคต ไม่มีใครรู้แน่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมรู้แค่เพียงว่าตอนนี้ผมมีที่หมายถัดไปอยู่ในใจแล้ว...แค่นั้นก็พอ

          ขอบคุณทุกคนที่ตามอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้นะครับ ถ้าเกิดยังพอมีคนสนใจเรื่องราวการเดินทางของผมละก็ คราวหน้าถ้ามีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังอีกครับ
Dew
เช็คอินสะสม: 4738 วัน
เช็คอินต่อเนื่อง: 1 วัน

ความคืบหน้าการอัพเกรด: 48%

โพสต์ 2014-11-23 15:15:24 | ดูโพสต์ทั้งหมด
thank you
เช็คอินสะสม: 1685 วัน
เช็คอินต่อเนื่อง: 1 วัน

ความคืบหน้าการอัพเกรด: 22%

โพสต์ 2014-11-24 19:31:52 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ขอบคุณมากครับ
เช็คอินสะสม: 4841 วัน
เช็คอินต่อเนื่อง: 1719 วัน

ความคืบหน้าการอัพเกรด: 26%

โพสต์ 2016-4-27 07:30:20 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ขอบคุณครับ
เช็คอินสะสม: 483 วัน
เช็คอินต่อเนื่อง: 1 วัน

ความคืบหน้าการอัพเกรด: 6%

โพสต์ 2016-6-16 03:53:31 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ขอบคุณครับ

ตอบกระทู้

สำหรับคนที่ขี้เกียจพิมพ์
คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนที่จะตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

รายละเอียดเครดิต

TOP