เช็คอินสะสม: 135 วัน เช็คอินต่อเนื่อง: 0 วัน
ความคืบหน้าการอัพเกรด: 100%
|
สมาชิก kulasang.net เท่านั้นถึงจะสามารถเข้าเนื้อหาได้อย่างสมบูรณ์
คุณจำเป็นต้อง เข้าสู่ระบบ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? สมัครสมาชิก
x
แรงงานข้ามชาติไทยอยู่ที่ไหน? May 1, 2013
ทุกวันนี้ทั่วหัวระแหงสี่มุมเมืองกรุงเทพ เราพบแต่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามจังหวัดชายแดน ก็มีแรงงานรับจ้างมาทำงานแทนที่คนไทยเต็มไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดสมุทรสาคร ถือได้ว่าเป็นลิตเติลย่างกุ้ง แดนพม่าน้อยๆ บนแผ่นดินไทยก็ว่าได้ แล้วแรงงานคนไทยไปไหนกันหมด?
คนทำงานย่อมแสวงหางานที่มีรายได้ดีขึ้นเพื่อโอกาสที่ดีในชีวิต หากโอกาสนั้นหาไม่ได้จากแผ่นดินกำเนิด ย่อมต้องบุกบั่นไปตายเอาดาบหน้า เช่นเดียวกับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาแสวงหาโอกาสในประเทศไทย แรงงานไทยเองก็แสวงหาโอกาสที่ดีขึ้นของชีวิต ด้วยการหางานทำยังต่างประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่าประเทศไทยเรา
จากสถิติของสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ พ.ศ. 2555[1] พบว่า ประเทศที่แรงงานไทย ผ่านการคัดเลือกได้รับอนุญาตให้ไปทำงานยังประเทศต่างๆ มากที่สุด ดังนี้
- ไต้หวัน 30,425 คน
- ญี่ปุ่น 7,467 คน
- สาธารณรัฐเกาหลี 6,471 คน
- สวีเดน 5,535 คน
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3,707 คน
- อิสราเอล 3,059 คน
- ฟินแลนด์ 2,965 คน
- สิงคโปร์ 2,595 คน
- มาเลเซีย 1,947 คน
- แอฟริกาใต้ 1,352 คน
และประเทศอื่นๆ 14,105 คน รวมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศใหม่ในปี 2555 ทั้งสิ้น 79,628 คน ลดลงจากปี 2554 ที่มีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 90,237 คน อยู่ 10,609 คน ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่าเป็นเพราะนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2555 ทำให้ค่าแรงภายในประเทศสูงพอที่จะดึงดูดแรงงานให้อยู่ในประเทศ ไม่ต้องดั้นด้นแสวงโอกาสไปทำงานต่างประเทศที่ไม่คุ้นเคย
โดยแรงงานดังกล่าว ส่วนมากมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดภาคอีสาน[3] ลำดับจังหวัดที่มีแรงงานไปทำงานต่างประเทศมากที่สุดได้แก่
- อุดรธานี 10,222 คน
- ชัยภูมิ 6,519 คน
- นครราชสีมา 6,244 คน
- ขอนแก่น 4,738 คน
- บุรีรัมย์ 3,544 คน
ทั้งนี้ แรงงานไทยข้ามชาติ ได้นำเงินเข้าสู่ประเทศจำนวนมาก ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญหนึ่งของภาคชนบทไทย โดยจากการประมาณการผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 – 2553 แรงงานไทยในต่างแดน ได้นำเงินเข้าประเทศรวม 751,302 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 66,161.1 ล้านบาท โดยในปี 2555 มีเงินโอนจากแรงงานข้ามชาติ 90,117 ล้านบาท[3] คิดเป็น 1.02% ของ GDP ในปีเดียวกัน[4] และคิดเป็น 2.5 เท่าตัว ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่รัฐจัดเก็บได้ในปี 2555 [5]
ซึ่งในปี 2553 ประเทศที่มีแรงงานไทยไปทำงานมากเป็นอันดับ 3 คือประเทศลิเบีย อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 และ 2555 ประเทศลิเบียเกิดปัญหาการสู้รบภายในอย่างรุนแรงจากการโค่นล้มอำนาจของโมอัมมาร์ กัดดาฟี ทำให้แรงงานไทยต้องอพยพกลับประเทศเป็นการฉุกเฉิน และรัฐบาลลิเบียปัจจุบันไม่มีแผนจะดำเนินการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็คต์ต่อ จึงทำให้ตลาดแรงงานไทยในต่างแดนหายไปหนึ่งประเทศ[6] เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับแรงงานไทยในซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเคยมีจำนวนแรงงานสูงสุดถึง 20,000 คน ก่อนปี พ.ศ. 2533 ซึ่งเกิดเหตุการณ์คดีเพชรซาอุ และอุ้มฆ่านักการทูตชาวซาอุดิอาระเบีย ทำให้แรงงานไทยในซาอุดิอาระเบียต้องกลับประเทศเช่นกัน[7]
ความเป็นไปของการเมืองระหว่างประเทศ ความสามารถของนักการทูตและผู้แทนแรงงาน และสัมพันธไมตรีระหว่างรัฐบาล จึงส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนชาวไทยที่แสวงหาโอกาสของชีวิตอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ชนบทไทยมิได้อยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง แต่สัมพันธ์กับประชาคมโลกอย่างที่ชาวเมืองคาดไปไม่ถึง
อ้างอิง[1] รายงานสรุปรวมจำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้ไปทำงานในต่างประเทศ พ.ศ. 2555
|
|